‘สระแก้ว –สุพรรณบุรี’ จ่อบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับท้องถิ่น หลังเดินหน้าไปแล้ว 5 จังหวัด แต่ถูก สตง.ชี้ว่าไม่ใช่ภารกิจของ อปท. จนต้องส่ง คกก.กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตีความ ได้ข้อสรุป บริการรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นภารกิจของ อปท. ส่งผล ผู้ปฏิบัติงานเฮ มั่นใจ ทำหน้าที่ช่วย ปชช.มีกฎหมายรองรับ ด้าน สพฉ.พร้อมสนับสนุนงบจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมออกประกาศให้งานการแพทย์ฉุกเฉินเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ทำให้ล่าสุดมีจังหวัดอีก 2 จังหวัด คือ สระแก้ว และสุพรรณบุรี อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น ว่า ปกติระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ จิตอาสา องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร รวมไปถึง อปท.ในระดับ เทศบาล หรือ อบต.ที่เข้ามาช่วยจัดบริการเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน โดยอยู่ในรูปแบบของการส่งคนมาฝึกอบรมกับ สพฉ. และออกเหตุรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่วนที่ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ.... คือระดับจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา มี 5จังหวัดที่ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย กทม. อุบลราชธานี สงขลา มหาสารคาม และลำพูน โดยในปีนี้จะมี จ.สระแก้ว และสุพรรณบุรี เพิ่มเติม
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีอุปสรรคสำคัญ คือ อปท.ขึ้นกับกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย และ ภารกิจของการแพทย์ฉุกเฉินไม่ได้อยู่บัญญัติใน พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ที่ให้กระจายอำนาจในส่วนนี้ให้ท้องถิ่นโดยตรง แต่บัญญัติเพียงการรักษาพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นการรับผู้ป่วยโดยรถฉุกเฉินของ อปท. ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นว่าไม่ใช่ภารกิจของ อปท.
“ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ตีความว่าการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล เพราะไม่ใช่เพียงรับผู้ป่วยไปส่งเฉยๆ แต่ระหว่างการส่งผู้ป่วยนั้นก็มีการรักษาพยาบาลไปด้วย หลักเกณฑ์นี้จะทำให้ อปท.สามารถที่จะพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ ทั้งในแง่ของบุคลากร การจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือ พาหนะ และการบูรณการร่วมกันกับหน่วยงานอื่นในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้ถูกต้องชัดเจน และท้องถิ่นเองจะได้มีความมั่นใจดูแลประชาชน ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตซึ่งถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ประชาชนต้องอยู่รอดก่อน สังคมจึงจะอยู่ได้ และอยู่สบาย” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว
นพ.ไพโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า สพฉ.ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุน อปท.ให้ดำเนินการและบริการการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อดำเนินการการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว อปท.จะได้รับการอุดหนุนตามกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย
- 146 views