สพฉ.เปิด 3 อันดับสถิติการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินของวัยแรงงานผ่านสายฉุกเฉิน 1669 พบอุบัติเหตุยังครองแชมป์ทำแรงงานเจ็บป่วยฉุกเฉินมากสุด รองลงมาคือป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง และ ปวดท้อง, หลัง, เชิงกราน พร้อมระบุปี 61 จนถึงปัจจุบันมีแรงงานพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด มากถึง 42,127 คน วอนสถานประกอบการดูแลสวัสดิภาพแรงงานให้ปลอดภัยจากการทำงาน พร้อมเตือนแรงงานดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจขาดเลือดหลังพบตัวเลขการแจ้งเหตุอาการหายใจลำบากติดขัดที่มีมากถึง 24,354 คนเช่นกัน
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้รวบรวมสถิติตัวเลขของการแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายฉุกเฉิน 1669 ของประชาชนในวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 20 – 60 ปี ขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2561 – จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 พบว่า มีการแจ้งเหตุในเรื่องอุบัติเหตุยานยนต์มากที่สุดโดยได้รับแจ้งเหตุในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือ 148,377 ครั้ง ส่วนผู้หญิง 80,163 ครั้ง รองลงมาคือการได้รับแจ้งเหตุจาก อาการป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง โดยได้รับแจ้งเหตุในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเช่นกัน คือ ชาย ได้รับแจ้ง 66,460 ครั้ง หญิงได้รับแจ้ง 56,835 ครั้ง ขณะที่อันดับ 3 คืออาการปวดท้อง, หลัง, เชิงกราน ได้รับแจ้งเหตุในเพศชาย 42,301 ครั้ง และเพศหญิง 35,900 ครั้ง
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากสถิติของ 3 อันดับแรกที่น่าเป็นห่วงแล้ว ยังมีสถิติของการแจ้งเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายฉุกเฉิน 1669 ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของวัยแรงงานคือการพลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด ที่มีการแจ้งเหตุเข้ามามากถึง 42,127 คน ตนจึงอยากฝากเตือนไปถึงสถานประกอบการให้ใส่ใจในการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานในการทำงานให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐานตามหลักสากลด้วย
นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานเองหากใครที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงก็อยากให้ตรวจดูอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในการทำงานของเราว่าพร้อมและปลอดภัยพอสำหรับการทำงานของเราหรือไม่ หากไม่พร้อมก็ให้รีบแจ้งผู้ประกอบการให้เข้ามาดูแลทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเราและเพื่อนร่วมงานด้วย และที่สำคัญแรงงานเองก็ต้องดูแลตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้วย
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อีกหนึ่งสถิติที่มีการแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ามาและเป็นเรื่องที่ประชาชนวัยแรงงานต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือ คืออาการหายใจลำบากติดขัดที่มีการแจ้งเหตุเข้ามามากถึง 24,354 คนเช่นกัน ซึ่งอาการหายใจลำบากติดขัดมักมีต้นเหตุมาจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในหลายๆ โรค แต่โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดของอาการหายลำบากติดขัดคือ โรคภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (STEMI) ซึ่งภาวะของโรคหัวใจขาดเลือดคือโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากรุนแรงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน โดยเฉพาะในขณะออกแรง หรือมีอาการแน่นเหนื่อยอึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย และมีอาการเจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวกรวมถึงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นการ หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจากแน่นหน้าอกแล้ว ยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้วัยแรงงานมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากปัจจัยหลายอย่างได้แก่ มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดของคนในครอบครัว แรงงานหลายท่านมีภาวะของความเครียดบางคนจึงสูบบุหรี่หนักซึ่งการสูบบุหรี่ในปริมาณที่มากในแต่ละวันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้นด้วย นอกจากนี้แรงงานที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน แรงงานที่มีภาวะอ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มมากขึ้นด้วย
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จึงอยากฝากให้ประชาชนในวัยแรงงานดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีเพื่อให้ปลอดจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทุก ๆ โรค หากแบ่งเวลาได้ก็อยากให้มีการแบ่งช่วงเวลาจากการทำงานออกกำลังกาย บ้างและอยากให้เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือต้องไม่เครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ และหากแรงงานท่าใดพบว่าตนเองหรือเพื่อนร่วมงานมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามที่ตนกล่าวมาก็ขอให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที เราพร้อมดูแลประชาชนทุกคนฟรีตลอด 24 ชั่วโมง”
- 23 views