เครือข่ายกู้ชีพลั่นเดินหน้าค้านประกาศ สพฉ.เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 หลังประชุมร่วมกันวันที่ 10 พ.ย. 2560 และมีมติให้ชะลอร่างประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน แต่ผ่านไป 5 วันบอร์ด สพฉ.กลับมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ใน 180 วัน ย้ำประกาศ สพฉ.ฉบับใหม่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ‘กู้ชีพ’ ส่วนใหญ่หมดสิทธิลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน
เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา
นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรมฮุก 31 นครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังจากเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ชะลอการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 ซึ่งทาง นพ.ปิยะสกล ได้มอบหมายให้นายพงษ์ภัฎ เรียงเครือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนองค์กรภาคเอกชนซึ่งไม่แสวงหากำไรจำนวน 11 หน่วยงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า การประชุมในวันที่ 10 พ.ย. 2560 มีมติว่าให้ชะลอร่างประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณาให้เรียบร้อย แต่ก็ปรากฏว่าหลังจากนั้นวันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่ประชุมบอร์ด สพฉ.ได้นำร่างประกาศฉบับนี้มาพิจารณาเลย และยังมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ภายใน 180 วันอีกด้วย
“การประชุมวันที่ 10 พ.ย. 2560 ซึ่งมีเลขาธิการ สพฉ.เข้าร่วมประชุมด้วยก็พูดคุยกันด้วยดี เราก็บอกแล้วว่าทุกคนเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบและเห็นด้วยที่จะให้มีประกาศที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉิน เพียงแต่ข้อบังคับตามประกาศมันยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เราข้อแก้ไขให้ผู้ที่ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้โดยประชาชนไม่เดือดร้อน แต่ สพฉ.เขาไม่ฟัง เขาไม่ได้มองบริบทในต่างจังหวัด มูลนิธิเล็กๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้ปฏิบัติการไม่ถึงระดับที่ สพฉ.ต้องการว่าจะเกิดปัญหา” นายพิสิษฐ์
นายพิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า สาระสำคัญที่คัดค้านในร่างประกาศฉบับเดิม คือประเด็นเรื่องการกำหนดให้การลำเลียงหรือรับส่งผู้ป่วยต้องกระทำโดยบุคลากรที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนในระดับ Emergency Medical Responder (EMR) ขึ้นไป ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบุคลากรส่วนใหญ่ทั่วประเทศกว่า 1 แสนคนยังอยู่ในระดับ First Responder (FR) เท่านั้น ส่วนระดับ EMR แม้แต่ สพฉ.ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งหากประกาศใช้ในตอนนี้จะทำให้บุคลากรระดับ FR นำส่งผู้ป่วยไม่ได้ ซึ่งในร่างประกาศฉบับใหม่ที่ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด สพฉ.นั้น ก็ไม่มีการแก้ไขในประเด็นนี้ เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้คำว่าระดับปฏิบัติการ ซึ่งมีระดับพื้นฐานและระดับสูง
“ระดับสูงเราเข้าใจอยู่แล้วว่าคือระดับวิชาชีพตั้งแต่ paramedic พยาบาลขึ้นไปจนถึงแพทย์ แต่ระดับพื้นฐานไม่ได้บอกว่าระดับพื้นฐานคืออะไร แต่เดิมร่างฉบับแรกบอกว่าคือ EMR ขึ้นไป หรือเรื่องอื่นๆ ก็เปลี่ยนถ้อยคำแต่เอาไปซ่อนไว้ เช่น ร่างฉบับเดิมที่บอกว่าจะเก็บค่าตรวจรับรองไม่เกิน 30,000 บาท ก็เอาข้อความนี้ออก แต่เขียนว่าแล้วแต่ทาง สพฉ.จะกำหนด หมายถึงว่าเมื่อมีอนุกรรมการตรวจรับรองขึ้นมา เขาจะเรียกเก็บแน่นอน เพราะมันเป็นความตั้งใจของเขาตั้งแต่แรกเริ่ม เพียงแต่ยังไม่บอกว่าเก็บอย่างไร” นายพิสิษฐ์ กล่าว
นายพิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า ไม่ทราบว่า นพ.ปิยะสกลได้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของเครือข่ายกู้ชีพที่ไม่เห็นด้วยกับประกาศฉบับนี้จะยังคงต่อสู้ต่อไปโดยอาศัยช่องทางตามกฎหมาย เพียงแต่ตอนนี้ยังรอให้มีการรับรองรายงานการประชุมดังกล่าวเสียก่อน
ผู้สื่อข่าว Hfocus.org รายงานว่าเอกสารเสนอที่ประชุมบอร์ด สพฉ.ครั้งที่ 14/2560 วันที่ 15 พ.ย. 2560 วาระที่ 3.1 ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ระบุว่า สพฉ. ได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจใน (ร่าง) ประกาศ กพฉ. เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ. ... โดยมีนายพงษ์ภัฎ เรียงเครือ ทำหน้าที่ประธานในการชี้แจง และมี กพฉ.ประกอบด้วย พ.อ.สุรจิต สุนทรธรรม, นายนิติศักดิ์ บุญมานนท์, นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก และ นายทรงยศ เทียนทอง เข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องอันประกอบด้วยผู้แทนองค์กรภาคเอกชนซึ่งไม่แสวงหากำไรและมีบทบาทด้านการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงสถานพยาบาลจำนวน 11 หน่วยงาน ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะแพทยศาสตร์
ผลการชี้แจงสรุปได้ว่า ผู้เข้าประชุมเห็นชอบในหลักการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินตามแนวคิดในร่างประกาศดังกล่าว แต่มีข้อโต้แย้งหลายประเด็นทั้งในเนื้อหากับแนวทางปฏิบัติ และกระบวนการยกร่างที่อาจขาดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง จึงขอให้ดำเนินการดังนี้
1. ชะลอการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กพฉ. เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ. ... ไว้ก่อน และ
2. มอบให้นายไพโรจน์ บุญศิริคำชัย, นายนิติศักดิ์ บุญมานนท์, นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก, นายทรงยศ เทียนทอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปหารือตามแนวทางที่นายไพโรจน์ฯ เสนอในที่ประชุม พร้อมทั้งกลับมาเสนอให้ กพฉ. ทราบภายใน 1 เดือน
ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
1.รับทราบผลการชี้แจง
2. ชะลอการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กพฉ. เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ. ... ไว้ก่อน
3.มอบให้นายไพโรจน์ บุญศิริคำชัย, นายนิติศักดิ์ บุญมานนท์, นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก, นายทรงยศ เทียนทอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปหารือตามแนวทางที่นายไพโรจน์ฯ เสนอในที่ประชุม พร้อมทั้งจัดทำ (ร่าง) กลับมาเสนอให้ กพฉ. ทราบภายใน 1 เดือน
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมบอร์ดสพฉ. วันที่ 15 พ.ย. 2560 ไม่ได้ชะลอการพิจารณาร่างประกาศแต่อย่างใด โดยมีมติเห็นชอบในวันดังกล่าวทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้ำประกาศ สพฉ.ฉบับใหม่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ‘กู้ชีพ’ หมดสิทธิลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน
แนะ สพฉ.จะเพิ่มคุณภาพ จนท.กู้ชีพพื้นฐาน ต้องแก้ปมค่าอบรม-ค่าตอบแทน
- 53 views