สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ผลักดันการกู้ชีพฉุกเฉินให้เป็นหลักสูตรเสริมในระบบการศึกษา มั่นใจช่วยให้เยาวชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ที่โรงเรียนราชวินิต (ประถม) สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ ส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดค่ายอบรมนำร่องให้เยาวชนไทย ครั้งที่ 2
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการจัดค่ายอบรมนำร่องให้เยาวชนไทยในโครงการ ส่งเสริม และป้องกัน คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในครั้งนี้เป็นครั้ง 2 ที่มีความแตกต่างจากครั้งแรก คือ ครั้งแรกจะเป็นนักเรียนจากหลายโรงเรียนและเป็นโรงเรียนในสังกัด กทม. ส่วนในครั้งนี้เป็นนักเรียนจากโรงเรียนราชวินิตโรงเรียนเดียว และเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งการจัดกิจรรมครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนไทยสนใจ และใส่ใจสุขภาพ เพื่อสร้างความตื่นตัวในการป้องกัน การงดหรือลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงจากอันตราย และ สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เหมาะสม จากสาเหตุการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประเภทต่างๆ
“การทบทวนความรู้ที่นักเรียนได้เรียนจากโรงเรียนโดยนำมาฝึกฝนให้เกิดเป็นทักษะวิธีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ฉุกเฉินหลากหลายประเภทเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่มีสุขภาพดีและไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ ซึ่งทางสมาคมฯจะนำสิ่งที่ได้ทำมาจากกิจกรรมเข้าค่ายทั้ง 2 ครั้งนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ความรู้พื้นฐานการด้านส่งเสริม และป้องกัน คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวจะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ตนเชื่อว่าคนในกระทรวงศึกษาธิการนี้จะเห็นถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว” ศ.นพ.สันต์ กล่าว
คุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า กิจกรรมเข้าค่ายอบรมนำร่องให้เยาวชนไทยในโครงการ ส่งเสริม และป้องกัน คนไทยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ครั้งนี้มีนักเรียนจากโรงเรียนราชวินิต(ประถม) ระดับชั้น ป.4-ป.5 ระดับชั้นละ 15 คน รวมทั้งสิ้น 45 คนเข้าร่วมกิจกรรมค่ายในครั้งนี้ได้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็ก โดยจะมีกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ประเภท โดยมีการจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น รถนักเรียนเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เด็กนักเรียนจะสามารถเอาตัวรอดหรือช่วยเหลือเพื่อนได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้ และเกิดเป็นทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ ทุกฐานการเรียนรู้จะเป็นการบูรณาการด้านความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉินให้เหมาะสมกับวัยที่เด็กเหล่านี้จะเรียนรู้ได้และสามารถนำไปบอกต่อคนในครอบครัวได้
ส่วนเรื่องการผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษานั้นตนเห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราต้องเพิ่มทักษะการสอนให้กับครูผู้สอนเพิ่มเติมด้วย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินหรือโรงพยาบาลมาร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในระยะเริ่มแรกๆ ตลอดจน การปรับให้เกิดความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งภายในหลักสูตรของลูกเสือ เนตรนารี เป็นต้น คุณหญิงเดือนเพ็ญ กล่าว
ด้านนายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าในส่วนตัวมองว่า การเรียนรู้ที่จะเพิ่มทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต แต่ทั้งนี้การเรียนรู้ของเด็กจะต้องเป็นขั้นเป็นตอน เหมาะสมกับวัย ทั้งนี้การจัดฐานการเรียนรู้จะต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้ว่า การเอาชีวิตรอดจะต้องทำอย่างไร และสามารถดูแลตนเอง รวมถึงการป้องกันและสามารถบอกต่อความรู้ให้กับคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องมีความเข้าใจในขั้นตอนต่างๆของการช่วยชีวิต และสามารถผนึกให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ ซึ่งหากเด็กทุกคนทำได้จะส่งผลดีต่อประเทศชาติอย่างมาก
“การนำเด็กมาเข้าค่ายกิจกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ดี ส่งผลให้เด็กมีความรู้มากขึ้น ในความคิดเห็นของตนแล้ว เด็กสามารถหาความรู้ได้จากทุกสถานที่ เช่น หากจะเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาล หรือพบเหตุการณ์ฉุกเฉินจะทำอย่างไร ให้โรงพยาบาลหรือ รพ.สต. เป็นผู้ให้ความรู้แก่เด็กได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่โรงเรียนอย่างเดียว” นายศัจธร กล่าว
- 31 views