กรมอนามัย เผย พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้จริง 9 กันยายน 60 นี้ พร้อมย้ำการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ที่ไม่เหมาะสม โอ้อวดเกินจริง ชักจูงให้ประชาชนเกิดการใช้โดยไม่จำเป็น มีความผิดตามกฎหมาย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่ประเทศไทย ได้ให้การรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตามมติที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 63 ที่ให้แต่ละประเทศปรับปรุงให้เป็นกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะแม่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ผ่านวิธีการส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ เนื่องจากช่วงวัยทารกและเด็กเล็กเป็นช่วงอายุที่บอบบางและจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้ได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียว และหลัง 6 เดือนให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัย อาหารสำหรับทารก และอาหารเสริมสำหรับทารกควรจะใช้ในกรณีจำเป็นและใช้อย่างเหมาะสม
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า การโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ต้องมีการควบคุมให้เป็นไปในลักษณะที่เหมาะสม ไม่โอ้อวดเกินจริง ไม่ชักจูงให้ประชาชนเกิดการใช้โดยไม่จำเป็น จะผิดกฎหมายตามมาตรา 14 คือ กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับทารกห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กโดยใช้ข้อความเกี่ยวกับทารกหรือเด็กเล็กในสื่อโฆษณาที่มีลักษณะเชื่อมโยงหรือ ทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารกหรือเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก
และมาตรา 25 คือ กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารเสริมสำหรับทารก ซึ่งคำว่า "โฆษณา" ตามกฎหมายฉบับนี้หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ทางการค้า ด้วยการโพสต์รูปหรือสื่อใดๆ อันเป็นการโฆษณาอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็ก และอาหารเสริมสำหรับทารก ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า ถือว่าเป็นการ ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ได้ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องให้แม่ไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีความสุขและเพียงพอตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ตาม Code “นมแม่ 1-6-2” คือให้เริ่มให้นมแม่ได้เร็วใน 1 ชั่วโมงแรก และให้นมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน และให้นมแม่ต่อเนื่องไปถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น และขับเคลื่อนใน 3 ด้าน ได้แก่
1) เริ่มจากการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการสุขภาพและเน้นพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความเชี่ยวชาญและสามารถเป็นที่ปรึกษา และให้ความรู้แก่แม่และครอบครัวได้เวลาที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือในการให้นมลูก รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานโรงพยาบาลให้เป็นมิตรกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากที่สุด
2) ผลักดันให้เกิดมาตรการในโรงงาน สถานประกอบการ ที่ทำงาน และที่สาธารณะให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการ
และ 3) ผลักดันการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการปกป้องแม่และครอบครัวจากข้อมูลการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่อาจชักจูงให้เกิดการรับรู้ที่ผิดเกี่ยวกับการเลือกอาหารให้ทารกและเด็กเล็ก
- 124 views