หากเรื่องใดเป็นภัยคุกคามสวัสดิภาพคนทำงาน จำเป็นต้องมีมาตรการจัดการเด็ดขาด อันไหนเกินศักยภาพ โปรดส่งต่อ ก่อนส่งทำให้เต็มที่เท่าที่ทำได้ เขียนเวชระเบียนให้ละเอียด หากญาติหรือใครคุกคามเหมือนตาลุงวิศวะที่สกลนคร โปรดแจ้งตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายเด็ดขาด
เลิกได้แล้วครับกับความกร่าง ความบ้าคลั่งสิทธิที่ไม่ควรมีไม่ควรได้
เลิกได้แล้วกับความคาดหวังบ้องตื้นที่เป็นไปไม่ได้
ถึงเวลาแล้วครับ ที่รัฐต้องจัดสวัสดิการแบบขั้นต่ำที่คนควรได้ หากเกินนั้น ต้องรับผิดชอบเอง หากไม่มีก็ต้องเข้าสู่ระบบช่วยเหลือตามมนุษยธรรม หากทรัพยากรในระบบยังมีจำกัดแบบปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่ รพ.รัฐต้องจำกัดชั่วโมงการทำงานของบุคลากร เอาเท่าที่มี ถ้าไม่พอต้องไม่ฝืนปฏิบัติการเกินกำลังจนทำให้เสี่ยงต่อทั้งผู้ป่วยและคนทำงาน
ถึงเวลาที่ประชาชนต้องรู้ ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำ เคารพกฎ รอคิว หากแสดงความรุนแรงก้าวร้าวหรือทำร้ายบุคลากร ทั้งทางวาจาหรือร่างกาย ต้องโดนดำเนินคดี และตัดสิทธิที่เคยมีเคยได้
ไม่ชอบให้สงเคราะห์ ก็ต้องทำงาน หางานทำ จ่ายภาษีให้มากขึ้น รู้จัก "ให้" มากกว่าเอาแต่ตะโกนขอ รับผิดชอบต่อพฤติกรรมโหลยโท่ยที่ทำร้ายตนเองและสร้างผลกระทบต่อสังคม เมาแล้วขับหากบาดเจ็บล้มตาย ต้องรับผิดชอบทั้งแพ่งและอาญา ฝ่าฝืนกฎจราจรก็เช่นกัน
หากมา รพ.แล้วไม่ให้เกียรติและเคารพคนดีที่เค้าทำงานทุ่มเทด้วยกายและใจ ก็ไม่ควรได้รับการให้เกียรติเช่นกัน
ไทยต้องยอมรับเสียทีว่าเงินและทรัพยากรที่มีในระบบนั้นไม่สามารถดูแลทุกคนทุกโรคตามความคาดหวังบ้าๆ มาตรฐานระดับโลกได้
เลิกสร้างภาพ กับระบบประกันคุณภาพ รับรองมาตรฐาน ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจว่าได้รับรองแล้วจะทำได้ทุกอย่างไม่มีผิดพลาด ทั้งๆ ที่เป็นไปไม่ได้ไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติไหน
ถึงจุดวิกฤติแล้ว ที่รัฐต้องเลือกระหว่าง... หนึ่ง หาเงิน คน เครื่องมือ เทคโนโลยี มาให้เพียบพร้อมทุกที่ทุกเวลา หรือ สอง ยอมรับความจริง และปกป้องคนในระบบสุขภาพ อย่าให้คนดีที่ทำงานด้วยใจ ต้องเจ็บช้ำทั้งกายและใจอย่างที่เป็นมา
ทุกคนในประเทศควรมีหลักประกันสุขภาพเผื่อยามจำเป็น แต่ต้องลงแรง ลงทุน ร่วมพัฒนา ไม่เอาแต่ร้องขอแบบไม่เคยพอ บ่นก่นด่า และหลงผิดคิดว่าต้องมีต้องได้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เลิกสร้างระบบที่ปลุกปั่นให้คนคลั่ง "สิทธิ" เสียที!!!
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
- 8 views