“รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” เผย คนตายโรคพิษสุนัขบ้าพุ่ง ต้นเหตุหน่วยตรวจสอบไล่บี้เทศบาล “ซื้อวัคซีนฉีดให้หมาไม่ได้ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย” ระบุงานด้านสุขภาพ หน่วยตรวจสอบต้องเข้าใจ เน้นผลลัพธ์สุขภาวะและสุขภาพที่ดีของประชาชน ขณะที่งบ “กองทุนสุขภาพตำบล” อปท.ไม่กล้าใช้จ่าย กลัวถูกใช้งบผิดวัตถุประสงค์เช่นกัน หน่วยงานเกี่ยวข้องจับมือเร่งแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ในการประชุมแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กองทุนตำบล) นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวช่วงหนึ่งของการบรรยายภายใต้หัวข้อ “บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับนโยบายขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพในพื้นที่” ว่า นิยามคำว่าสุขภาพรับทราบกันดี คือการมีสุขภาพกาย จิต สังคม และพัฒนาการที่ดี ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเข้าใจในการจัดทำกิจกรรมเชื่อมโยง เช่นเดียวกับหน่วยงานตรวจสอบต้องเข้าใจงานด้านสุขภาพที่ต้องมุ่งผลลัพธ์สุขภาวะและสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดสุขภาพที่ดีมีความหลากหลาย ซึ่งผูกโยงทั้งด้านรายได้ การศึกษา สถานะสังคม การพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพ เป็นต้น ที่ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน
นายธนา กล่าวว่า การที่ท้องถิ่นจะดำเนินการข้างต้นนี้ได้จะต้องมีกฎหมายรองรับ วันนี้ที่หน่วยตรวจสอบตรวจสอบท้องถิ่น ตรวจสอบหน่วยงานอื่นๆ จะยึดหลักตรวจสอบว่าท่านทำตามอำนาจหน้าที่ ทำตามที่ระเบียบและกฎหมายกำหนดหรือไม่ แต่ในงานด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นเวทีใด ทั้งกฤษฎีกา คณะกรรมการกระจายอำนาจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องการดูแลสุขภาพเป็นภารกิจ อปท. เพราะไม่ว่ากฎหมายจัดตั้ง อปท. ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเทศบาล กฎหมาย อบท. อบจ. หรือแม้แต่กฎหมาย กทม. ต่างระบุถึงภารกิจด้านสุขภาพทั้งสิ้น แต่ขณะเดียวกันในกฎหมายลูกการจะดำเนินการได้ต้องกำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องเท่านั้นทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
“ผมมีตัวอย่าง วันนี้เรามีปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ที่ผ่านมามีหน่วยตรวจสอบมาไล่ตรวจว่าเทศบาลซื้อวัคซีนเพื่อฉีดกันพิษสุนัขบ้าให้หมาไม่ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า กำหนดอำนาจหน้านี้ที่เป็นของอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นหน้าที่สัตวแพทย์ในการฉีด ทำให้เทศบาลที่ไปทำเรื่องนี้ก็ถูกสอยเป็นแถว ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้ทำให้การจัดการโรคพิษสุนัขบ้าบ้านเราดีขึ้นเลย การทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับทำให้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศทวีคูณอย่างทันตาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เราลดคนตายจากโรคพิษสุนัขบ้าเหลือเพียงปีละ 3 คน แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงปีมีรายงานคนตายจากพิษสุนัขบ้าถึง 15 คนแล้ว จากความระมัดระวังของ อปท.ที่ไม่กล้าลงไปทำเรื่องนี้ เพราะกลัวถูกตรวจสอบว่าไม่มีอำนาจทางกฎหมายอีก” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว
นายธนา กล่าวต่อว่า ประเด็นปัญหาทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ส่วนกลางต้องมาช่วยกันคิดและแก้ไขว่าทำอย่างไรให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพได้ ซึ่งประเทศไทยยังมีความระมัดระวังการทุจริตประพฤติมิชอบสูง กฎหมายที่เกิดขึ้นจึงมาจากความหวาดระแวง ทั้งที่คนทำงานเองอยากทำในสิ่งที่ดีๆ หลายเรื่อง ตรงนี้เราจึงต้องช่วยกันพัฒนาและรับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติ
นอกจากนี้ในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น ที่ผ่านมามี อบต.และเทศบาลทั่วประเทศเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคืองบประมาณภายใต้กองทุนวันนี้มีเหลืออยู่มาก และยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากท้องถิ่นระมัดระวังอย่างมากในการถูกตรวจสอบโดยหน่วยตรวจสอบ ระวังการใช้งบผิดวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้เป็นเจ้าภาพและเชิญกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหาทางออก
“ผมจำได้ว่าช่วงแรกของการจัดตั้งกองทุนฯ เราก็มีการจัดทำรายการใช้จ่ายเงินกองทุนให้กับท้องถิ่น และได้เชิญหน่วยตรวจสอบมาดู เพื่อให้มั่นใจว่าหากท้องถิ่นทำตามรายการนี้ไม่มีการเรียกเงินคืนแน่นอน แต่บางครั้งการทำงานและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปรวดเร็ว รายการที่จัดทำขึ้นอาจไม่รองรับเพียงพอ จึงต้องมีการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายใหม่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกันระหว่าง สปสช.และ มท.” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีกองทุนดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่มีหลักเกณฑ์การจ่ายไม่ชัดที่ต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน รวมถึงกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 43 จังหวัดที่ดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ทุกจังหวัดเข้าร่วม ซึ่งบทบาทงานด้านสุขภาพ อปท.ต้องมีส่วนร่วมกับ สธ.ให้ได้มากที่สุด
- 10 views