สปสช.หารือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งแก้ไขปัญหา “งบกองทุนรักษาพยาบาล อปท. ปี 60” รักษาการเลขาธิการ สปสช.แจงกองทุนบัตรทองงบจำกัด มีแผนใช้งบชัดเจน หากทดรองจ่ายก่อน หวั่นกระทบดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง 48 ล้านคน ด้าน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เผยปี 61 เสนอของบเพิ่ม 9 พันล้าน รวมอุดหนุนเพิ่มปี 60 แล้ว พร้อมเตรียมขอเบิกจ่ายงบกลางก่อน
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และ สปสช.ได้ประชุมหารือทิศทางการดำเนินงานท้องถิ่นด้านสุขภาพ โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานการประชุม ได้มีการหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหากองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ทั้งนี้ การรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้างของ อปท.นั้น เดิมท้องถิ่นแต่ละแห่งจะบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลเอง แต่เนื่องจากมีพนักงานและลูกจ้าง อปท.หลายแห่งมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ในปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีนโยบายให้ สปสช.ทำหน้าที่บริหารการรักษาพยาบาลของพนักงานและลูกจ้างของ อปท. โดยรวมตั้งเป็นกองทุนในการบริหารจัดการความเสี่ยง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมาและได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ส่งผลให้พนักงานหรือลูกจ้าง อปท.เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2558 กองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.เริ่มมีปัญหาติดลบ แต่ด้วยในการจัดทำข้อตกลงในการบริหารจัดการกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ได้กำหนดให้ สปสช.ทดรองจ่ายไปก่อน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะตั้งงบประมาณคืนกองทุนฯ ในปีถัดไป แต่ด้วยในปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 อัตราการรับบริการและการเบิกจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ได้ส่งผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ในปี 2560 ซึ่งจะเพียงพอการเบิกจ่ายในเดือนเมษายนนี้เท่านั้น โดยต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 2,648 ล้านบาท สำหรับการดูแลต่อเนื่องในอีก 5 เดือน
“อย่างไรก็ตามแม้ว่ากรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เสนอตั้งงบประมาณปี 2561 เพิ่มเติมเพื่อนำมาทดรองจ่ายในปี 2560 นี้ แต่ด้วยตัวเลขที่ติดลบจำนวนมาก หาก สปสช.ทำการทดรองจ่ายจะส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาพยาบาลผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เนื่องจากงบประมาณที่ถูกจำกัดและมีแผนการใช้ในสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ชัดเจนอยู่ ทำให้ไม่สามารถทดรองจ่ายได้ จึงจำเป็นต้องหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา” นพ.ชูชัย กล่าว
นายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในปี 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เสนอของบประมาณกองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.จำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท โดยเป็นจำนวนที่รวมการชดเชยงบประมาณติดลบในปี 2560 แล้ว แต่เนื่องจากตามที่ สปสช.ได้หารือมาก่อนหน้านี้ถึงปัญหาการทดรองจ่ายล่วงหน้าให้กับกองทุนรักษาพยาบาล อปท. จึงได้มีการเสนอของบกลางล่วงหน้าจากรัฐบาลเพื่อนำมาใช้เบิกจ่ายในกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ในปี 2560 ให้เพียงพอก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับ สปสช.ขอตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอต่อสำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว
- 42 views