ผอ.รพ.บ้านแพ้ว ชำแหละผลพวงแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว ระบุ ข้อดีเจ้าหน้าที่มั่นคง ไม่ถูกเบียดบังเงินเดือน ข้อเสียคือเงินเดือน ขรก.พุ่ง กระทบงบให้บริการประชาชน ระบุการแก้ พ.ร.บ.บัตรทอง รอบนี้ ไม่มีผลกระทบกับบ้านแพ้วที่เป็นองค์การมหาชน

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กรณีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ตอนหนึ่งว่า ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วนั้น มีการกำหนดให้เงินเดือนบุคลากรถูกรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวมาโดยตลอด ซึ่งแตกต่างกับโรงพยาบาลภาครัฐอื่นๆ ที่มีความพยายามจะแยกออกมา ส่วนตัวขอเปรียบเทียบว่าหากมีการแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัว ข้อดีคือความมั่นคงของเจ้าหน้าที่เพราะเขาทราบว่างบประมาณในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะไม่พอ สิ่งที่โรงพยาบาลทำก็คืออาจจะมาเบียดบังเงินเดือนตรงนี้เพื่อไปดูแลคนไข้ ฉะนั้นหากแยกเงินเดือนออกมาก็จะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความมั่นใจได้ว่าเงินเดือนของเขาจะไม่ถูกลด

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่เกิดขึ้นจากการแยกเงินเดือนออกจากรายหัวก็คือในขณะที่งบประมาณมีแนวโน้มที่จะลดลงหรือเงินรายหัวมีแนวโน้มจะลดลงหรือเท่าเดิม แต่ในแต่ละปีเจ้าหน้าที่กลับจะมีเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเงินในส่วนที่จะแยกออกไปจากค่ารักษาพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินสำหรับรักษาพยาบาลก็จะถูกลดลง แน่นอนว่าย่อมกระทบกับการให้บริการประชาชน

“ฉะนั้นด้วยเงินที่มันมีจำกัด ฝ่ายหนึ่งก็จะได้ประโยชน์ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเสียประโยชน์” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า หากถามต่อว่าแล้วข้อดีของการรวมเงินเดือนไว้ในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวคืออะไร หากรวมเข้าไปก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่จะบริหารจัดการเองแล้ว กรณีโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่ได้รวมมาก็จะทราบว่าแต่ละปีมีเงินเท่าใด จะควบคุมเงินอย่างไร เช่น หากได้มาน้อยเราก็จะจ้างพนักงานน้อยลง หรือให้พนักงานทำงานหลายหน้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตรงนี้ก็จะมีความเหนื่อยตรงที่หากสัญญากับพนักงานไว้แล้วว่าจะให้เงินเดือนขึ้นเท่านั้นเท่านี้จะเป็นสิ่งที่ดำเนินการยากขึ้น

“องค์การมหาชนมีกฎหมายยืดหยุ่นมากกว่า คือเอื้ออำนวยในเรื่องของคนที่เราสามารถตัดได้ ปลดได้ ง่ายกว่ารัฐ เพราะภาครัฐไม่สามารถปลดคนได้ หากสัญญาเขาไว้แล้วก็มีแต่การเพิ่มขึ้น ฉะนั้นภาครัฐก็จะแย่หากนำเงินเดือนมารวมกับรายหัว” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของการรวมเงินเดือนนั้น หากพื้นที่ใดมีประชากรที่น้อยมาก เช่น มีเพียง 1 หมื่นคน แต่ในพื้นที่นั้นๆ กลับมีโรงพยาบาลตั้งอยู่แล้วกฎเกณฑ์ก็กำหนดไว้ว่าจะเปิดโรงพยาบาลได้ต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 70-80 คน คำถามคือแล้วจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายเงินเดือนคนจำนวนมากเหล่านั้น เพราะรายหัวมันน้อยจนไม่เพียงพอจะหักเป็นเงินเดือน แล้วจะเปิดโรงพยาบาลได้อย่างไร ในกรณีกลับกันหากเราหักเงินออกมาก่อนเป็นเงินเดือน ก็ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลลดน้อยลงหรือไม่เพียงพออีก ทุกวันนี้ก็ใช้หลักการโรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลย่อยอยู่

“ถ้าถามผมเองมันก็ได้ทั้ง 2 มุม แต่ความที่โชคดีขององค์การมหาชนคือเราสามารถปลดคนได้ง่ายกว่า มันก็เลยทำให้เราคล่องตัวกว่า ฉะนั้นหากภาครัฐอยากจะใช้แบบโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ได้ แต่ต้องไปแก้กฎหมายก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยและไม่ง่าย ดังนั้นการแก้ พ.ร.บ.บัตรทอง รอบนี้ ไม่มีผลกระทบกับบ้านแพ้วที่เป็นองค์การมหาชน จึงอยากสนับสนุนให้โรงพยาบาลรัฐเป็นองค์การมหาชนมากขึ้น” นพ.พรเทพ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอเจษฎา’ หนุนแก้ กม.บัตรทอง ชี้ควรปรับการใช้งบป้องกันโรค ดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ

นักวิชาการแนะนับหนึ่งใหม่แก้ กม.บัตรทอง

สธ.แจงเหตุขอแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว

สสจ.สิงห์บุรี เผยแก้ กม.บัตรทองคือทางออก แยกเงินเดือน ช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน

ประธาน สพศท.ชี้ปมเห็นต่างแก้ กม.บัตรทอง ต่อให้นับ 1 ใหม่จนถึง 10 ก็ไม่จบ หากมีมุมมองแบ่งฝ่าย

ประธานชมรม รพศ./รพท.ชี้ แก้ กม.บัตรทอง ควรยึดหลัก ปชช.ไม่เสียสิทธิ รพ.อยู่ได้

รพ.พระนั่งเกล้าหนุนแก้ กม.บัตรทอง เห็นด้วยแยกเงินเดือนจากงบรายหัว

อดีต ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้ปมแยกเงินเดือนจากงบรายหัว กระทบ รพ.ที่จ้างบุคลากรนอกงบประมาณ

‘ผอ.รพ.รามัน’ ขวางแยกเงินเดือนบุคลากร หวั่นกระทบ รพ.ขนาดเล็ก-ประชาชน

'รพ.สิงห์บุรี' ย้ำลดต้นทุนทุกวิธีแต่ยังเอาไม่อยู่ เชื่อแยกเงินเดือนช่วยได้มาก

ผอ.รพ.ประจวบฯ ชี้ผูกเงินเดือนกับงบรายหัว หลักคิดดีแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้

ผอ.รพ.ตากใบ หวั่นผลกระทบลูกโซ่แยกเงินเดือนจากรายหัว ชี้ รพ.ชุมชนอ่วม