ผอ.รพ.บ้านแพ้ว ยันโครงการออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกลดผู้ป่วยลงได้จริงจาก 50% เหลือ 20% แนะดึงราชวิทยาลัยจักษุแพทย์คุมจริยธรรมหมอตาให้ผ่าตัดตามข้อบ่งชี้ อย่าผ่าพร่ำเพรื่อเพียงเพราะหวังเบิกเงินจาก สปสช.
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อํานวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ให้ความเห็นถึงโครงการออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการพิเศษที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีผู้ป่วยรอการผ่าตัดต้อกระจกตาตกค้างกว่าแสนรายและไม่สามารถกำจัดได้ทัน โดยขณะนั้นมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นปีละ 6 หมื่นราย และสถิติจักษุแพทย์ก็ผ่าตัดได้ปีละ 6 หมื่นคน ก็ทำให้รายเก่าที่ค้างอยู่ไม่ได้ผ่าตัดเสียที
นอกจากนี้ จักษุแพทย์ก็กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ จึงมีการออกหน่วยแพทย์เพื่อแก้ปัญหานี้โดย สปสช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายและมีกลไกการจ่ายที่ง่าย เพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้หน่วยบริการเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งในช่วงแรกทางโรงพยาบาลเอกชนยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อทำโครงการไประยะหนึ่งก็ทำให้ผู้ป่วยต้อกระจกตาโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลลดน้อยลงเรื่อยๆ หน่วยบริการหลายแห่งเริ่มเห็นความคุ้มทุน มีการออกหน่วยแพทย์ในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง สถานบริการเอกชนในบางพื้นที่เริ่มเห็นช่องบางอย่าง เริ่มเอาผู้ป่วยที่ยังมีอาการเล็กน้อยหรือไม่ได้เป็นต้อกระจกจริงมาผ่าตัดมากขึ้นแล้วเอาไปเบิกเงิน ทำให้งบประมาณที่ควรถูกกระจายไปในพื้นที่ไกลๆ กลายเป็นไปลงอยู่ในพื้นที่เดิมๆ ทั้งที่ในหลักการแล้ว ต้องผ่าตัดคนที่มีภาวะตาบอดหรือตามัวจากต้อกระจกก่อน คนที่ยังเป็นน้อยๆ ควรจัดลำดับไว้หลังๆ และควรกระจายไปในที่ห่างไกลเรื่อยๆ เนื่องจากเงินมีจำกัด
“หลังๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลมากขึ้น เริ่มมีการออกแบบให้คนตรวจคัดกรองกับคนผ่าตัดเป็นคนละทีม ไม่ใช่ให้คนตรวจและคนผ่าเป็นทีมเดียวกันแล้วไปเบิกเงิน สปสช. ล่าสุดก็มีการออกแบบวีซ่าขึ้นมา ให้ในพื้นที่นั้นลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อตรวจคัดกรองจำนวนผู้ที่มีอาการตามข้อบ่งชี้ เช่นมี 300 ราย หน่วยแพทย์ที่เข้ามาก็ต้องผ่าตัด 300 รายนี้ก่อน จะเอาเคสที่ 301 มาผ่าไม่ได้ ก็ทำให้เอกชนเริ่มถอยไปทำในพื้นที่ที่มีความจำเป็นมากขึ้น” นพ.พรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ระบบเหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังมีความระแวงกันอยู่บ้าง ซึ่งในส่วนตัวเห็นว่าหากยังระแวงแพทย์หน่วยไหน ก็ควรคุยกับแพทย์เหล่านั้น ราชวิทยาลัยจักษุฯ ควรทำความเข้าใจว่าต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ และต้องทำตามนี้เพราะเงินของประเทศชาติมีจำกัด
ขณะเดียวกัน ในเรื่องจริยธรรมก็อยากให้เอาราชวิทยาลัยจักษุฯ เข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน เพราะถ้าแพทย์ได้รับการอบรมที่ดี ก็จะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น บางครั้งเอกชนบางที่ก็เกลี้ยกล่อมแพทย์บางอย่าง เช่น ถูกกล่อมว่าขนคนไข้มาแล้ว ถ้าไม่ได้ผ่า วันหน้าก็จะไม่มารับการผ่าตัดอีก ดังนั้นผ่าๆ ไปเถอะ ซึ่งก็ต้องชี้แจงให้แพทย์เหล่านี้เข้าใจว่ามีงบประมาณจำกัด ก็ต้องเลือกคนที่เป็นเยอะๆ ก่อน คนที่เป็นน้อยน่าจะรอคิวได้ ราชวิทยาลัยจักษุฯ ต้องเข้ามาเพื่อสร้างความเข้าใจแก่จักษุแพทย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“ถ้าถามว่าทุกวันนี้ต้อกระจกถูกกำจัดไปได้เยอะแค่ไหน เพราะเห็นมีกระแสข่าวบางข่าวออกมาประมาณว่าลงทุนไปหมื่นล้าน คนไข้ยังเท่าเดิม ผมในฐานะทีมที่ไปออกหน่วยพูดได้เลยว่าเจอคนที่มีภาวะตาบอดจากต้อกระจกน้อยลงมาก แต่ก่อนออกหน่วยที มีอาการถึงขึ้นตาบอด 40-50% แต่ทุกวันนี้เจอประมาณ 20% ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามันน้อยลงจริงๆ ผมยืนยันว่าคนไข้ที่ตกค้างมีน้อยลงและโครงการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง” นพ.พรเทพ กล่าว
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของข้อเสนอเพื่อปรับปรุงโครงการในอนาคต มองว่าเรื่องต้อกระจกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามอายุ จึงมีคนไข้ใหม่เข้ามาเรื่อยๆ และเป็นภาวะที่กระทบกับคุณภาพชีวิต ในระยะยาวก็ควรต้องกำหนดมาตรฐานว่าคุณภาพชีวิตที่ดีควรจะเป็นแบบไหน เช่น รอให้เป็นจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นจนต้องใช้มือคลำทางเลยแล้วค่อยผ่าหรือไม่ หรือรอจนเกิดตาขุ่นมัว มองเริ่มไม่ชัดก็ควรผ่าได้แล้ว ดังนั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำหนดนโยบายแล้วว่าต้องการให้คุณภาพชีวิตและการมองเห็นของคนไทยดีแค่ไหน
นอกจากนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าภาวะต้อกระจกลดลงและสามารถกลับเข้าสู่ระบบปกติได้ (ระบบเหมาจ่าย) รายได้ของโรงพยาบาลก็ต้องเอาไปบริหารการรักษาโรคต่างๆ เช่น จ่ายค่าผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ค่าคลอด ผ่าตัดไส้ติ่งเสบ ฯลฯ โรงพยาบาลอาจจัดลำดับความสำคัญในการทุ่มงบประมาณเพื่อรักษาต้อกระจกอยู่อันดับท้ายๆ และเกิดปัญหาผู้ป่วยต้อกระจกตกค้างสะสมกลับมาใหม่อีกรอบ
“เป็นเรื่องท้าทายว่าผู้บริหารจะให้ทิศทางไปทางไหน จะยังมีโครงการพิเศษต่อไปไหม หรือยังมีอยู่ในบางพื้นที่ พื้นที่ไหนที่มีปัญหาน้อยลงแล้วให้กลับเข้าสู่ระบบปกติ” นพ.พรเทพ กล่าว
- 66 views