กรมสุขภาพจิต ชวนสังคมฟังเสียงสะท้อนผู้ป่วยจิตเภท เปิดใจ ยอมรับ ให้โอกาส และกำลังใจ ชี้ "โรคจิตเภท” เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ที่ รพ.ศรีธัญญา นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้สัมภาษณ์ว่า ทุกวันที่ 24 พ.ค.ของทุกปี หลายประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันโรคจิตเภท (Schizophrenia Awareness Day) เพื่อสร้างความตระหนักและลดอคติในสังคมที่มีต่อโรคนี้ ซึ่งวันนี้ กรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา สมาคมสายใยครอบครัว ชมรมเพื่อนรัก และผู้มีประสบการณ์ตรงกับโรคจิตเภท ได้ร่วมกันจัดงานขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ชีวิตยังมีความหมาย แม้มีโรคจิตเภท (There is life after schizophrenia)”
อาการสำคัญของโรคนี้ คือ มีความคิด การรับรู้ อารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติ มีความคิดไม่ต่อเนื่อง ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ แยกตัวจากสังคม ไม่ค่อยดูแลตนเอง เหมือนหลุดไปจากความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
โรคนี้พบได้ ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้หลายสิบล้านคน มักพบในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-35 ปี สำหรับประเทศไทย โรคจิตเภท พบมากที่สุด จากข้อมูลสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต คาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยโรคจิตทั่วประเทศ ประมาณ 421,298 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเภทที่เข้าถึงบริการ ประมาณ 2 ใน 3 หรือประมาณ 288,806 คน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวย้ำว่า "โรคจิตเภท” เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว สาเหตุมาจากปัจจัย 3 ด้านประกอบกัน คือ ความโน้มเอียงที่มีอยู่ก่อน เช่น พันธุกรรม พื้นฐานทางอารมณ์ ปัจจัยกระตุ้น เช่น การกระทบกระเทือนของสมอง ความเครียด ฮอร์โมน โรคบางอย่าง หรือสารเสพติด และปัจจัยที่ทำให้โรคดำเนินต่อไป คือ การไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาวะที่เหมาะสม เนื่องจากไม่ตระหนักรู้ถึงโรคจิตเภทหรือเพราะอคติต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ หากรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและคนรอบข้างอย่างมาก ผู้ป่วยอาจเกิดความหวาดระแวงสูง กลัวคนอื่นมาทำร้าย นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง สังคมหวาดกลัว ตอกย้ำตราบาปให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
สำหรับการดูแลรักษา มีทั้งการรักษาทางกาย ด้วยการใช้ยาเพื่อลดอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ควบคู่กับการรักษาทางจิตใจ ด้วยการพูดคุยให้ผู้ป่วย มีความเข้าใจตัวเองและมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ผิดปกติ พร้อมปรับกระบวนการคิดที่ส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง รวมทั้ง ทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด ออกกำลังกาย และครอบครัวบำบัด การฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น ฝึกทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ทักษะการประกอบอาชีพ ทักษะการสื่อสาร สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ตลอดจนส่งเสริมให้ญาติมีความรู้ เจตคติ และทักษะการดูแลผู้ป่วย
“ความหวังและกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยที่จะช่วยให้สามารถก้าวข้ามผ่านความเจ็บป่วยนั้นไปได้ หากพวกเขาได้รับการบำบัดรักษาและส่งเสริมดูแลอย่างเหมาะสม ย่อมสามารถคืนสู่สุขภาวะ มีชีวิตที่มีความหมายได้ตามศักยภาพ ซึ่งการรักษาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนจำนวนมากเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ส่งผลคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้ป่วยจึงต้องยอมรับก่อนว่า ตนเองมีอาการและเปิดใจที่จะทำการรักษา ประกอบกับ ครอบครัวยอมรับ พามารักษาในระยะเริ่มต้น มีแพทย์ที่เอาใจใส่ และยาที่ใช้ในการรักษามีประสิทธิภาพ ตลอดจน ชุมชน สังคม และสื่อมวลชน ต้องไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย เปิดใจ ยอมรับ ให้โอกาส และกำลังใจกับพวกเขา ให้กลับมาอยู่ในครอบครัวที่พวกเขารัก และมีที่ยืนในสังคม อย่างมีคุณค่าและมีความหมายอีกครั้ง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวเสริมว่า ปี 2559 รพ.ศรีธัญญา มีผู้ป่วยโรคจิตเภทรับบริการรักษาเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 50,635 คน และ ผู้ป่วยใน จำนวน 2,759 คน และการจัดงานครั้งนี้ โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิตและเครือข่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจโรคจิตเภทและผู้อยู่กับโรคจิตเภท ตลอดจนสังคมจะได้ยินเสียงผู้ป่วยจิตเภทว่าเขาต้องการชีวิตที่มีความหมายแบบใด อะไรที่จะเป็นประโยชน์ส่งเสริมพวกเขาสู่เป้าหมายนั้น เพื่อให้พวกเขาสามารถลุกขึ้นมารับผิดชอบการสร้างชีวิตที่มีความหมายเพื่อตัวเขาและสังคมโดยรวมต่อไปได้
กิจกรรมภายในงาน อาทิ นิทรรศการให้ความรู้ การออกบูธของสมาคม ชมรมเครือข่าย การแสดงดนตรีกับการขับร้องบทเพลงของผู้มีประสบการณ์ตรงกับโรคจิตเภท การเสวนา “เส้นทางสู่ชีวิตที่มีความหมาย” จากผู้มีประสบการณ์ตรง และ การเสวนา “การสนับสนุนชีวิตที่มีความหมาย” จากคนแวดล้อม นักวิชาชีพด้านจิตเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งส่งเสริมเรื่องการทำงานของคนพิการตามมาตรา 35 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- 355 views