เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม โชว์ผลงาน “(ไทย) ทีนสปิริต” สะท้อน 5 ประเด็นปัญหาสังคมไทย“สิ่งแวดล้อม-เหลื่อมล้ำ-สุขภาวะและโภชนาการ-ความรุนแรง- สื่อปลอดภัยสร้างสรรค์” หวังปลุกกระแสให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและหาทางแก้ไข
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ องค์กรภาคประชาสังคม สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย จัดนิทรรศการผลงานนักศึกษาในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ปี 4 “(ไทย) ทีนสปิริต” ภายใต้แนวคิดนักออกแบบเพื่อการสื่อสารรุ่นใหม่ที่มีสำนึกความเป็นพลเมืองใช้ศักยภาพของตัวเองในการร่วมสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคมไทย จากการสร้างสรรค์ผลงานของนักศึกษาเกือบ 400 คน 35 ผลงาน สร้างสรรค์ผลงานกว่า 100 รูปแบบ จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค ที่มีการเรียนการสอนด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสาร จำนวน 11 สถาบัน 14 คณะ 17 สาขาวิชา 11 สถาบันที่เข้าร่วม ได้แก่
1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
3.มหาวิทยาลัยบูรพา
4.มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
6.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
7.มหาวิทยาลัยนเรศวร
8.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
9.มหาวิทยาลัยรังสิต
10.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
11.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โจทย์การออกแบบการสื่อสารครังนี้ สะท้อนปัญหาสังคม 5 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม ความรุนแรงในสังคม สุขภาวะและโภชนาการ สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง ซึ่ง สสส.ดำเนินโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยน่าอยู่ร่วมกับพันธมิตรที่มองเห็นความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และสร้างเสริมการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น พร้อมกับเปิดหน้าต่างการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะทำให้เยาวชนได้เห็นปัญหาของสังคมที่พวกเขาได้ร่วมวางแผน และหาแนวทางการแก้ไขด้วยพลังของตัวเอง นำไปสู่การเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Active Citizen ซึ่งจะฝังอยู่ในตัวพวกเขา
สสส.เชื่อว่าการพัฒนาทักษะ และผลักดันขีดความสามารถของเยาวชนนั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ UNC ล้วนเป็นมุมมองของเหล่านักศึกษาที่พร้อมจะมีส่วนร่วมกับปัญหาสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต โครงการต่างๆ อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ซึ่งจะเกิดเป็นกระแสสังคมเพื่อต่อยอดให้เกิดเป็นสังคมเข้มแข็งต่อไป
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า โครงการ UNC ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 4 แล้ว จากจุดเริ่มต้นเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้บริหารและคณาจารย์จากคณะวิชาที่สอนด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสาร ของมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค เกิดความตระหนักถึงบทบาทสำคัญของตนเองในการสร้างศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และสามารถสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคมไทย ตลอดระยะเวลา 4 ปี ผลลัพธ์ที่เห็นจากโครงการ คือ โครงการได้
1.สร้างต้นแบบนักศึกษาด้านศิลปะและการออกแบบเพื่อการสื่อสาร จำนวน 697 คน
2.เกิด “เครือข่าย” การทำงานของอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งการเชื่อมโยงกิจกรรมในโครงการกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เกิดเป็นนวัตกรรมการปรับการเรียนการสอนที่หลากหลาย
3.การบูรณาการเข้าสู่ชั้นเรียน มีสถาบันนำกิจกรรมในโครงการ UNC เข้าไปบูรณาการในชั้นเรียน 3 รูปแบบ คือ
1.สถาบันจัดให้กิจกรรมโครงการ UNC เป็นโครงการพิเศษ มี 4 สถาบัน 5 คณะ
2.สถาบันที่นำไปเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา มีทั้งหมด 6 สถาบัน 7 คณะ
และ 3.สถาบันที่นำกรอบคิดและกระบวนการจัดการเรียนรู้นำไปปรับและบรรจุในหลักสูตรใหม่ มี 2 สถาบัน จะเห็นได้ว่าในปีนี้แต่ละสถาบันได้เห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้จากโจทย์จริงของสังคมจึงได้นำไปสร้างนวัตกรรมใหม่ในชั้นเรียนกันทั้งหมด
และ 4.รวมเครือข่ายองค์กรที่แข็งแรงเข้ามาร่วมเป็นภาคีสนับสนุน ทั้ง สสส. กองทุนสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ องค์กรภาคประชาสังคม กว่า 30 องค์กร ภาคีด้านการศิลปะการออกแบบสื่อและการสื่อสาร 6 องค์กร และสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย
“แสดงให้เห็นว่าโครงการ UNC เติบโตและแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะความร่วมมือของและการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของทุกภาคส่วนนั่นเอง” นางปิยาภรณ์ กล่าว
ผศ.อาวิน อินทรังษี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม กล่าวว่า โจทย์สังคมที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้เป็นประเด็นปัญหาหลักในสังคมไทยที่สอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของโครงการได้สอดแทรกกิจกรรมที่ทำให้นักศึกษาได้ไปสัมผัสกับพื้นที่จริง ปัญหาจริง และมีภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมให้ข้อมูลจริงและเป็นที่ปรึกษาด้านเนื้อหา นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนอกจากได้ฝึกทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียนแล้ว ยังได้ถูกปลูกจิตสำนึกให้นึกถึงสังคมไปพร้อมๆ กัน
“ผมเชื่อว่ามีเด็กบางส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว จะสามารถปลูกอะไรบางอย่างขึ้นในจิตใจ และคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะต่อยอดไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นจิตสำนึกขึ้นมาในที่สุด ซึ่งการสอนเรื่องการทำสื่อนั้นมีความสำคัญ เพราะสื่อมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน เราเชื่อว่ากระบวนการเรียนการสอนเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างพลเมืองให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศ ต่อโลกและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้ ถึงแม้จะเป็นแค่รายวิชาหนึ่งก็ตาม สำหรับปีนี้นักศึกษาต่างตั้งใจผลิตผลงานที่มีความหลากหลายรูปแบบ และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น บางกลุ่มเลือกผลิตสื่อ Exhibition ผสมกับ AR (Augmented Reality) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (Real) เข้ากับโลกเสมือน (Virtual) โครงการนี้มุ่งหวังให้นักศึกษานึกถึงคนอื่น ไม่ได้นึกถึงแต่ตนเอง ผมคิดว่าศิลปินหรือนักออกแบบมีคนทำงานเก่งๆ เยอะแล้ว แต่ประเทศชาติกำลังขาดคนที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม” ผศ. อาวิน กล่าว
น.ส.อริยา สภานุรัตนา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศก์ศิลป์ เอกภาพและการสื่อสาร การออกแบบกราฟิก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หนึ่งในกลุ่ม VCD1 (The Third Hand) ประเด็นความรุนแรงในสังคม หัวข้อ Behind the Women แล้วใครจะรู้ กล่าวว่า เรามีมูลนิธิเพื่อนหญิงเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูล จัดทำสื่อ POP UP BOOK และคลิปวิดีโอ เพื่อสื่อถึงทุกคนในสังคมว่า ทุกคนมีส่วนในการช่วยปกป้อง “ผู้หญิง” ที่ได้รับความรุนแรง เผยการเรียนรู้จากโครงการว่า
“ขอบคุณโครงการ UNC ที่ช่วย “เปลี่ยนความคิด” ของหนู ก่อนหน้านี้หนูคิดว่าเรื่อง social responsibility กับงานกราฟิกดีไซน์ เป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่พอได้ลงมือทำจริงๆแล้ว กลับทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานออกแบบสื่อเพื่อสังคม ซึ่งเราสามารถทำให้มันสวยและมีประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วย"
นายชัยสัณฑ์ มณีพลอยเพ็ชร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (เอกการโฆษณา) หนึ่งในกลุ่ม Red Hot Organic ประเด็นสิ่งแวดล้อม หัวข้อชาวนาทราบแล้วเปลี่ยน (การทำนาอินทรีย์) ผลิตสื่อหลากหลายชนิดเนื่องจากทำทั้งเอกโฆษณา จำนวน 32 คน ผลิตสื่อโซเชียลมีเดีย ได้แก่ เวบไซต์ - เฟสบุ้ค ชื่อชาวนาทราบแล้วเปลี่ยน ออนไลน์คลิป เรดิโอสปอต อินโฟกราฟฟิค Rice Paddy Art บทความ โดยสื่อสารถึงชาวนาโดยตรง ให้ชาวนารู้ว่าการทำนาเคมีมีข้อเสียอย่างไรและรู้วิธีการทำนาอินทรีย์ เป้าหมายเพื่อให้ชาวนาเคมีเปลี่ยนมาเป็นชาวนาอินทรีย์ แค่เพียง 1 คนก็ถือว่าสำเร็จแล้ว สะท้อนการเรียนรู้ว่า
“เรื่องข้าวเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ทุกคนกินข้าว และเรื่องนาอินทรีย์ นาเคมี ตอนแรกส่วนตัวผมไม่เคยรู้เรื่องนี้เลยว่า มันมีความแตกต่างกันอย่างไร พอเข้ามาทำงานนี้แล้วทำให้เห็นว่าปัญหาเรื่องเกษตรอินทรีย์กับเกษตรเคมีมีผลดี ผลเสียต่างกันอย่างไร ทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับการตลาดของประเทศและสังคมที่เราเห็นอยู่ตั้งแต่เด็กแล้วว่าชาวนาเป็นหนี้ ทำไมชาวนามีปัญหาตลอด ทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้รับข้อมูลกว้างขึ้น รู้ว่าโลกเป็นจริงเป็นอย่างไร การที่เราเป็นสื่อและเรารับรู้ข้อมูลมาเยอะแล้วทำการเผยแพร่ออกไปได้ และถ้าทำแล้วประสบความสำเร็จ รัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศเขาก็เห็นปัญหานี้แล้วมาลงลึกมาสนใจในการแก้ปัญหาพวกนี้แบบจริงๆ จังๆ ก็ได้นะครับ”
- 133 views