ข้อเขียนจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ธุรกิจสุขภาพระหว่างดีเทลยา และหมอ ว่าควรจะจัดที่ทางและความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรให้เหมาะสม อยู่บนพื้นฐานของหลักจรรยาบรรณ โดยหมอโรงพยาบาลรัฐ และอาจารย์แพทย์ทั้งหลาย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
บ่ายๆ ของวันฝนตก ผมฝันว่าได้เดินไปซื้อกาแฟกินที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในดินแดน "#สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา" เห็นเค้าว่ากันว่ากาแฟเจ้านี้ดีนักดีหนา ก็เลยจะลองแอบชิม พนักงานผู้หญิงดูยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายและให้บริการอย่างดี คุยกับผมเหมือนเรารู้จักมักจี่ สนิทชิดเชื้ออย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ผมแอบแซวเธอว่า วันนี้ดูคนมาซื้อไม่เยอะนะ เธอบอกว่าแปลกใจเหมือนกัน แต่เดี๋ยวพรุ่งนี้มีโปรซื้อหนึ่งแถมหนึ่งตอนบ่าย คาดว่า รพ.คงต้องปิด เพราะคิวกาแฟจะยาวมากเกินกว่าคิวตรวจของ รพ.
ฟังดูก็คิดขำๆ ว่า คงเป็นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยามเพลานี้โรงพยาบาลแทบทุกแห่งต่างพากันขายพื้นที่ให้แก่ร้านกาแฟและเบเกอรี่ที่พร้อมจ่ายค่าเช่าแพงๆ เป็นรายได้ให้แก่ รพ. โดยไม่แคร์ว่าจะส่งผลกระทบต่อน้ำหนักและโรคภัยต่อประชาชนและบุคลากรสุขภาพที่ทำงานใน รพ.อย่างไร
นี่เรียกว่าปรากฏการณ์ "เงินซื้อได้ทุกอย่าง" หรือเปล่านะ...ผมคิดในใจ แต่จริงๆ อยากตะโกนใส่หน้าผู้บริหาร รพ.เหมือนกัน
Anyway...กาแฟเจ้านี้ในอเมริกาเค้าออกผลิตภัณฑ์กาแฟปั่นยูนิคอร์น สีสันจี๊ดจ๊าดชมพูฟ้า สวยจนไม่กล้ากิน ออกมาได้แบบ limited edition แป๊บเดียวก็มีเสียงเตือนเสียงแซวผ่านทีวีมากมายว่า อย่าลองเชียวนะ แล้วจะหาว่าหล่อไม่เตือน...
ตอนแรกที่เห็นกาแฟสีแบบนั้น ผมคุยกับภรรยาและลูกว่าต้องหามาลองให้ได้ แต่พอดูทีวีแล้วเปลี่ยนใจไม่กล้าลอง เพราะกลัวช็อคตายด้วยความสุขใจจากกาแฟสีคิกขุ... วันนี้ตัดสินใจลองชิมกาแฟปั่นใส่เพรทเซลและข้าวโพดคั่ว...อืมมมม...มันจะรสชาติเป็นไง? ชิมแล้วตอบได้ว่าเหมือนกิน 3 อย่างพร้อมกัน...อร่อยหรือเปล่า ไม่ขอตอบ อิอิ
เรื่องของเรื่องที่จะเล่ามันถัดจากนี้...เออ แล้วจะเวิ่นเว้ออีกนานไหม? ไอ้ตอนที่ผมรับกาแฟจากพนักงานชงกาแฟที่เคาน์เตอร์ แล้วจะเดินไปหาหลอดและทิชชู่ที่อีกเคาน์เตอร์นึง บังเอิ้นบังเอิญเจอะผู้หญิงคนนึง แต่งหน้าทาปากสีจัดจ้าน นุ่งกระโปรงสั้นล่อตะเข้ พยายามยืนประกบ ประคบประหงม ประคับประคอง ปฏิโลมโอ้โลม กระทาชายนายหนึ่งอย่างออกหน้าออกตา จนขวางทางประชาชนที่สัญจรไปมาแถวร้านกาแฟที่ตั้งหน้าแผนกผู้ป่วยนอก
มองปร๊าดเดียวก็รู้ว่าความสัมพันธ์ของชายหญิงคนดังกล่าวนั้นคงเป็นดีเทลและหมอ ดีเทล...แปลว่าคนเชียร์ยา หรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หมอ...ในที่นี้แต่งตัวไม่ได้ใส่ชุดแพทย์ประจำบ้าน แต่ใส่เสื้อเชิ้ตตามสมควร ดูออร่าแล้วคาดว่าคงเป็นเฟลโลหรือแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ ปฏิสัมพันธ์ของหล่อนและเขานั้น สรุปสั้นๆ คือการเอาใจด้วยการซื้อกาแฟให้ฟรี และเชียร์ยาฝากยาให้น้องหมอเฟลโลช่วยสั่งหรือยิงยอดให้
แต่ด้วยความเป็นธรรม ผมคงตัดสินอะไรกับเค้าหรือเธอไม่ได้หรอก...อย่ามโนๆ ผมเตือนตัวเอง ที่แน่ๆ คือบทละครของทั้งคู่นั้นปิดกั้นไม่ให้ผมเข้าไปหยิบหลอดและทิชชู่ได้ไปหลายเพลา ผมจึงเปลี่ยนจาก "ไม่มโนๆ" ไปเป็นท่อง "นะโมๆ ขันติๆ" จนเธอและเขาจบปฏิสัมพันธ์อันบาดใจไป เวลาของเขาและเธอหมดลงแล้ว เดินจากกันไป ตัดเยื่อใยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่ามกลางความงงงวยของผมว่า นี่สินะความสัมพันธ์แบบอาหารจานด่วน คนเราเดี๋ยวคบง่ายเลิกง่าย ใช่ป่าววะ...ผมคิดในใจ...แต่คิดไปคิดมา มันไม่เกี่ยวกันนะ ฟุ้งซ่านเยอะไปหน่อย เดินกลับไปที่ห้องพักแพทย์ เพื่ออ่านหนังสือดีกว่า
คิดแล้วก็กลับหลังหัน ก้าวเท้าขวานำ ซ้ายตาม...แต่มาชะงักที่หน้าเคาน์เตอร์ร้านกาแฟอีกครั้ง เมื่อเห็นกระทาชายนายหนึ่ง เค้าว่ากันว่าเป็นคน "จืดๆ" เพราะเห็นออกสื่อโฆษณาอยู่หลายครั้ง อยากให้ประชาชนมากินจืดๆ กัน รัศมีอาจารย์หมอเปล่งประกาย...สังเกตได้จากการที่มีดีเทลกลุ่มเบ้อเริ่ม ดักรอ ยืนล้อมกรอบ ประหนึ่งโดม มาริโอ้ อเล็ก มารวมกันในร่างเดียว กระบวนการเอาอกเอาใจ อยากกินกาแฟไรหนูจัดให้ จารย์ไม่ต้องรอ เดี๋ยวหนูรับแล้วเอาไปให้ จารย์ยิ้มละมุนด้วยความเกรงใจ แต่ไม่ปฏิเสธค่างวดกาแฟร้อยกว่าบาทนั้น เดินมาแถวเคาน์เตอร์หลอดและทิชชู่ ดีเทลเดินตามมาเป็นกลุ่มใหญ่ ขยายวงไป โดยมีจารย์ยืนตระหง่านเป็นศูนย์กลาง คาดด้วยสายตา ไม่ได้เอาไม้บรรทัดหรือตลับเมตรมาวัด วงนั้นมีรัศมีราว 3 เมตร ซึ่งปิดกั้นและเป็นอุปสรรคต่อผู้ป่วยและคนที่สัญจรอย่างยิ่ง ผมยกมือถือขึ้นมาถ่ายภาพประวัติศาสตร์ไว้หลายช็อต...เพื่อเอาไว้สอนนักเรียนหมอรุ่นหลัง กินฟรีนี่น่าภูมิใจเหรอครับอาจารย์และน้องหมอ? มันเป็นสัญลักษณ์ประหนึ่งค่าพาวเวอร์ในการ์ดพลังเวลาสู้กันในเกมส์ออนไลน์หรือเปล่านะ?
บอกตรงๆ ว่าผมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้วมีความรู้สึกรุนแรงอยู่ 2 แบบ
หนึ่ง รู้สึกอยากอ้วก และขยะแขยงต่อท่าทีของทั้งเหล่าเขา และเหล่าเธอ
สอง อยากเดินไปถล่มกลางวง และสั่งสอนทั้งเขาและเธอให้รู้ว่ามันส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วย ประชาชน รวมถึงภาพพจน์ของวิชาชีพสุขภาพ
จริงอยู่ที่สภาวิชาชีพกำหนดว่ารับของได้มูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท แต่รู้ไหมว่าจะรับกี่บาทก็ตาม มันก็แปรไปเป็นค่ายาค่าเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยและประชาชนต้องแบกรับภาระทางอ้อม นี่ยังไม่นับภาพพจน์ของวิชาชีพสุขภาพ ที่พวกคุณทำลาย แสดงให้เห็นว่า "การรับการให้" ระหว่างคนขายและคนใช้ยานั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมตามกฎเกณฑ์สภาวิชาชีพ แต่ไม่มีกลไกใดในสังคมที่จะการันตีได้ว่า การรับการให้สิ่งต่างๆ นั้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจดูแลรักษาประชาชนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ที่แน่ๆ คือ ภาพที่เราเห็นชัดเจนคือ ราคาค่างวดของยา เครื่องมือแพทย์ และเทคโนโลยีต่างๆ มีแต่สูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง บริษัทมีแต่กำไรเพิ่มขึ้น...แต่คนและประเทศจะล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล หมอและบริษัทยาต่างๆ ล้วนต้องมีอยู่ในสังคมโลก และต้องอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลช่วยเหลือกันตามวิสัย และตามหลักคุณธรรม จริยธรรม
หากบริษัทมีผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ดีๆ ก็สามารถโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้แก่แพทย์ได้ตามช่องทางที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมวิชาการตั้งแต่วงเล็กๆ ไปจนถึงระดับนานาชาติ โดยรักษาระดับความสัมพันธ์ และท่าทีของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างเหมาะสม รู้กาละเทศะ และหมั่นตรวจตราตรวจสอบตนเองอย่างสม่ำเสมอว่า สิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่นั้นก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อผู้อื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจหรือไม่ และหากรู้ว่าเกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์แล้ว ต้องรีบจัดการแก้ไข แสดงความรับผิดชอบ และควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำขึ้นมาอีกในอนาคต
กรณีศึกษาข้างต้น หากย้อนเวลากลับไปได้ ควรไปคุยไปเชียร์ในที่ที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางสัญจรของผู้ป่วยและประชาชน และหมั่นดูแล ระแวดระวังการมีปฏิสัมพันธ์ไม่ให้เกิดความหมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยงต่อภาพลักษณ์องค์กร และภาพพจน์วิชาชีพ
ด้วยรักต่อทุกคนนะ... คิดถึงตรงนี้ก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา...ฝนหยุดตกพอดี
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
- 149 views