รพ.รามาธิบดีแถลงความสำเร็จ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง ชี้ปลอดภัยสูง ลดเสี่ยง ลดภาวะแทรกซ้อน แม่นยำ ผ่าตัดเนื้องอกในสมอง โรคลมชักในสมอง หรือภาวะพาร์กินสันที่กินยาแล้วไม่ดีขึ้น ความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร ระบุเป็นความสำเร็จครั้งแรกของไทยและของเอเชียที่สามารถทำได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “รามาธิบดีกับความสำเร็จ: หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองแห่งแรกในเอเชีย” ขึ้น ณ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของวงการแพทย์ไทยและเอเชีย ที่ทีมแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสมอง ด้วยนวัตกรรมเต็มประสิทธิภาพในเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้การผ่าตัดสมองในผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง ลดอัตราเสี่ยง รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดลงได้มาก อีกทั้งยังมีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงสุดอีกด้วย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยและของเอเชียที่สามารถทำได้สำเร็จ และนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและของคนไทยที่มีวิธีการในการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ศ.นพ.วชิร คชการ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผ่าตัด ว่า ปัจจุบันการผ่าตัดนับว่าเป็นการรักษาที่จำเป็นบนพื้นฐานของข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยแต่ละราย ในยุคนี้การผ่าตัดด้วยการบาดเจ็บน้อย หรือ Minimally Invasive Surgery นับว่ามีบทบาทสำคัญและเป็นรูปแบบการผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการผ่าตัดรักษาได้ หากแต่มีแผลจากการผ่าตัดขนาดเล็กลง หากเปรียบเทียบกับการผ่าตัดในสมัยก่อน ๆ และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดลดลง อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บจากการผ่าตัด การที่จะทำการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery ได้เป็นอย่างดีนั้น ศัลยแพทย์ต้องเป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์ที่ดี จึงจะทำการรักษาผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้แก่ การถ่ายภาพทางการแพทย์ เช่น CT หรือ MRI ร่วมกับเทคโนโลยีในการกำหนดเป้าหมาย ทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery ได้ประสบความสำเร็จมากขึ้น และความก้าวหน้าของการใช้เครื่องมือการผ่าตัด เช่น กล้องผ่าตัด (endoscope) หรือ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นสิ่งที่เสริมประสิทธิภาพของการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery ได้เป็นอย่างดี นับเป็นบทบาทสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต่อการผ่าตัดอย่างแท้จริง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงแนวทางในการให้ผู้ป่วยเข้าถึงการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงตามข้อบ่งชี้ ว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันมีผู้ป่วยเนื้องอกในสมองเป็นกลุ่มผู้ป่วยอันดับต้น ๆ ที่เข้ารับการรักษาในภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี การรักษาผู้ป่วยเนื้องอกในสมองนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบสหสาขาวิชาเพื่อบูรณาการการรักษา ไม่ว่าจะเป็นด้วยยาหรือการผ่าตัดรักษา ซึ่งเป็นผลดีแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยมีหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ความถูกต้อง ลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมอง ข้อบ่งชี้อื่น ๆ ได้แก่ การผ่าตัดรักษาภาวะพาร์กินสัน การผ่าตัดรักษาโรคลมชักในสมองที่ไม่สามารถใช้ยารักษาได้ หรือการผ่าตัดรักษาโรคจิตผิดปกติบางประเภทในสมอง เหล่านี้นับเป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการผ่าตัดสมอง ซึ่งมีหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยผ่าตัด
รศ.นพ.เอก หังสสูต หัวหน้าสาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความจำเป็นของประสาทศัลยแพทย์กับการใช้งานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์สำหรับช่วยการผ่าตัดสมอง ว่า การผ่าตัดสมองเป็นความท้าทายในการรักษาผู้ป่วยของศัลยแพทย์ โดยเฉพาะการผ่าตัดผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองที่มีขนาดเส้นผ่าตัดศูนย์กลางเล็กกว่า 3 เซนติเมตร และมีความจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อออกมา โดยขนาดของชิ้นเนื้อที่ตัดมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 3 เซนติเมตร ก็จะเป็นความยุ่งยากอย่างยิ่งให้แก่ศัลยแพทย์ และยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ จึงได้มีการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาใช้ร่วมด้วย เนื่องจากมีความแม่นยำสูง ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งหุ่นยนต์จะทำการคำนวณระยะสู่เป้าหมาย แนวทางการเดินและวัดระยะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำ จนทำให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดีอย่างมีขั้นตอน
นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังมีความสามารถในการช่วยผ่าตัดสมองที่ทำให้การผ่าตัดมีลักษณะบาดเจ็บน้อย เมื่อประสาทศัลยแพทย์จำเป็นต้องการเข้าสู่เป้าหมายในสมองที่ขนาดเล็กมาก ๆ เพื่อรักษาภาวะความผิดปกติบางอย่าง เช่น ภาวะลมชักในสมอง ภาวะพาร์กินสันที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้แล้ว ประสาทศัลยแพทย์จึงสามารถผ่าตัดได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลที่ศีรษะให้มีขนาดใหญ่เกินไปได้ เทคโนโลยีที่สำคัญนี้จะช่วยให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมีความปลอดภัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดสมอง
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิธีการผ่าตัด ข้อดีและข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีนี้ ว่า
ขั้นตอนประกอบด้วย 4 ขั้นตอน
1.ทำการวางแผนเข้าสู่เป้าหมายโดยอาศัยภาพ MRI ของสมองผู้ป่วย ประสาทศัลยแพทย์สามารถกำหนดทางเข้าและเป้าหมายปลายทางได้อย่างง่ายดาย เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดต่อหลอดเลือดหรือ อวัยวะสำคัญ ๆ ในสมอง
2.ประสาทศัลยแพทย์ติดตั้งอุปกรณ์อ้างอิงบนศีรษะของผู้ป่วย เพื่อทำการลงทะเบียนสมองของผู้ป่วยจากเครื่อง CT ในห้องผ่าตัดกับภาพ MRI สมองของผู้ป่วย
3.การทำ Registration ระหว่าง CT สมองของผู้ป่วยแล้วกับภาพถ่าย MRI ของสมอง
4.หลังจากที่ประสาทศัลยแพทย์กำหนดทิศทางเป้าหมายการผ่าตัดและลงทะเบียนผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์จะขยับแขนของหุ่นยนต์ไปยังเป้าหมายที่ประสาทศัลยแพทย์วางแผนไว้จากนั้นประสาทศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดตามขั้นตอนอย่างปลอดภัย
ในขณะนี้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองนับว่าให้ความปลอดภัยได้สูงในผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมองอันเนื่องมาจากการมีเนื้องอกในสมอง โรคลมชักในสมอง หรือ ภาวะพาร์กินสันที่กินยาแล้วไม่ดีขึ้น ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้อาจจะน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร ซึ่งนับว่ายังไม่มีอุปกรณ์ใดมาทดแทนความแม่นยำช่วยการผ่าตัดของหุ่นยนต์นี้ได้
- 724 views