สสส.จับมือ สพฐ.-มหิดล เปิดตัว “โรงเรียนฉลาดเล่น : Active School” ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในนักเรียน 12 โรงเรียนนำร่อง หวังช่วยลดภาวะเนือยนิ่ง โชว์ 3 โมเดล กระตุ้นพัฒนการเด็ก
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม Infinity 1 ชั้น 7 โรงแรมเอทัส ลุมพินี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล และ 12 โรงเรียนในสังกัด สพฐ. แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น : Active School” และลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในคนไทยว่า การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอจำเป็นต่อประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยเด็กอายุตั้งแต่ 6-17 ปี ที่กำลังมีพัฒนาทางร่ายการพร้อมๆ กับพัฒนาการทางสมอง ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยยังขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือการนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 35 นาที ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักตามข้อเสนอระดับสากลไม่ถึงวันละ 60 นาที เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วน
ในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สสส. โดยแผนกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญคือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปี ขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรในช่วงวัยนี้ โดยภายในปี 2562 ลดจำนวนผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมให้มีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย
“ดังนั้น สสส. จึงได้สนับสนุนโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น Active School” เนื่องจากเล็งเห็นว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายในเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนให้มีพื้นที่ เวลา และโอกาสเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคีที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนนวัตกรรมต้นแบบ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้จากการวิจัยสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ระดับนโยบายต่อไป” ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าว
ด้านนายสนิท แย้มเกษร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าว ปัจจุบันทาง สพฐ. มุ่งเน้นและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก ในช่วงเวลาที่อยู่โรงเรียน รวมไปถึงการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ให้นักเรียนได้มีโอกาส เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพและความแข็งแรงของนักเรียน เพราะเห็นว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย จะนำไปสู่การพัฒนาการที่ดี ทั้งในด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา ดังจะเห็นได้จากดำเนินนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตามหลัก 4H อันประกอบด้วย Head Hand Heart และ Health
ด้าน อ.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวถึง การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน “โรงเรียนฉลาดเล่น Active School” ว่า ถือเป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนต้นแบบที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ได้นำแนวคิดในการจัดสรรเวลาและโอกาสให้นักเรียนได้มีการมีกิจกรรมทางกาย การเคลื่อนไหวร่างกาย ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในหลักสูตร โดยใช้กิจกรรมการเล่นแบบ Active Play ที่ผ่านการทดลองทางการวิจัยแล้วว่า สามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ กระตุ้นการเรียนรู้ ทักษะด้านการฟังพูดอ่านเขียน การคิดวิเคราะห์ และช่วยในการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่เหมาะสมตามช่วงวัย ตามคุณลักษณะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า มีความสอดคล้องกับแนวการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลกำลังมุ่งเน้นในปัจจุบัน
ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือ นักเรียนในโรงเรียนฉลาดเล่นจะมีทักษะในการดำเนินชีวิต สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตามสถานการณ์ สนุกกับการเรียนรู้ทางวิชาการ เพราะธรรมชาติของเด็กทุกๆ คนชอบที่จะเล่น ดังนั้น หากเราสามารถประยุกต์เอากิจกรรมการเล่น การมีกิจกรรมทางกาย เข้ามาช่วยกระตุ้นความพร้อมทางสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ก็จะช่วยทำให้เด็กๆ มีสมาธิและความเข้าใจในการเรียนได้ดียิ่งขึ้น สำหรับโรงเรียนที่เข้าร่วมสามารถเลือกโมเดลต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมไปใช้กับโรงเรียนของตนได้ตามความพร้อม เป้าหมาย และบริบทของโรงเรียน โดยมีทางเลือกทั้งสิ้น 3 โมเดลคือ 1) เน้นส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในทุกโอกาสของแต่ละวัน รวมถึงในห้องเรียน 2) เน้นส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในช่วงเวลาพัก เวลาว่าง และชั่วโมงกิจกรรม และ 3) เน้นส่งเสริมพื้นที่สำหรับการวิ่งเล่นและการเคลื่อนไหวร่างกายด้าน ดร.สมใจ มณีวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไผ่ประถมศึกษา จ.ขอนแก่น กล่าวว่า กิจกรรมโรงเรียนฉลาดเล่น เป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน การมีกิจกรรมดังกล่าวนี้จะช่วยให้การจัดสรรเวลาและกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนมีอยู่ ถูกจัดการอย่างเป็นระบบและมีความบูรณาการมากยิ่งขึ้น คุณครูในโรงเรียนเองก็จะได้มีส่วนในการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน อีกทั้งยังสามารถนำแนวคิดการเรียนการสอนที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Active Learning, STEM Education หรือแม้กระทั่งกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มาบูรณาการเข้าร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นางฉวีวรรณ จุนโท ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ่อแดง จ.สงขลา เหตุผลสำคัญที่ทางโรงเรียนตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อตัวนักเรียนโดยตรง ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะทางวิชาการ และทักษะด้านอื่นๆ อย่างสมดุลและรอบด้าน และหากดูในรายละเอียดของกิจกรรมโครงการโรงเรียนฉลาดเล่นแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระงานหรือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นเลย นับว่าเป็นโอกาสดีของโรงเรียนที่จะได้มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เครื่องมือที่ช่วยจัดการเวลา สื่อการเรียนการสอน และกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะของผู้เรียนในโรงเรียนของเราได้
- 67 views