บอร์ด สปสช. มอบ “หมอชาตรี ประธานบอร์ดควบคุมคุณภาพ” รวบรวมข้อมูล “นโยบายล้างไตช่องท้องทางเลือกแรก” หลังมีข้อเสนอยกเลิกนโยบาย พร้อมเผยข้อมูลผลการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกไตหลังบำบัด 90 วัน เฉลี่ย 9 ปี ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตใกล้เคียงกัน ขณะที่ กมธ.สาธารณสุข สนช. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ถกทิศทางการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังของประเทศไทย
จากกรณีที่มีข้อเสนอให้ สปสช.ทบทวนนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (CAPD First Policy) โดยมีการให้ข้อมูลผ่านทางโซเชียลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยของ นพ.กฤษณพงศ์ มโนธรรม ในการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องและผู้ป่วยฟอกไต รพ.เลิดสิน และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ที่ระบุว่าผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าผู้ป่วยฟอกไตนั้น
นพ.ชูชัย ศรชำนิ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก มาจากการคำนึงถึงผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เข้าไม่ถึงการรักษา ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงการเข้าสู่ครัวเรือนล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องเสียชีวิตลงจากการเข้าไม่ถึงบริการบำบัดทดแทนไต จึงได้ดำเนินนโยบายควบคู่กับสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ครอบคลุมถึงการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม สนับสนุนยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดแดง และปลูกถ่ายไต รวมถึงการให้ยากดภูมิในผู้ป่วยภายหลังปลูกถ่ายไต
ตลอดระยะเวลาการดำเนินนโยบายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังเริ่มต้นในปี 2551 ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั่วประเทศเข้าถึงการรักษา โดยมีการจัดตั้งศูนย์ล้างไตผ่านช่องท้องกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ยังทำให้เกิดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลดอัตราติดเชื้อทางช่องท้องในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งจากข้อมูลโดย รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พบว่าในปี 2554 อัตราการติดเชื้อทางช่องท้องของผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอยู่ที่ 28.2 เดือนต่อครั้ง แต่ในปี 2559 มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 31.2 เดือนต่อครั้ง โดยที่มาตรฐานการดูแลภาวะอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง มีค่ามากกว่า 24 เดือนต่อครั้ง
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่าขณะที่ผลการรักษาเมื่อเปรียบเทียบอัตราการรอดชีพ ณ ปีที่ 1 หลังจากการรักษาในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องและผู้ป่วยฟอกไต โดยดูข้อมูลผู้ป่วยนับตั้งแต่วันที่เริ่มรับการรักษาและไม่นับรวมผู้ป่วยที่รักษาต่อเนื่องน้อยกว่า 90 วัน จากข้อมูลรับบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2552-2559 พบว่าอัตราการรอดชีพผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนั้นใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 86.4 ส่วนผู้ป่วยฟอกไตผ่านเครื่องมีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 91.6 ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีอัตราการรอดชีพที่ ร้อยละ 77.5 ส่วนผู้ป่วยฟอกไตมีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 85.4
“เมื่อดูข้อมูลเฉพาะในส่วน รพ.เลิดสิน และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ระหว่างปี 2553-2559 ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีอัตราการรอดชีพร้อยละ 85.3 ผู้ป่วยฟอกไตมีอัตราการรอดชีพร้อยละ 87.5 ขณะที่ผู้ป่วยที่อายุ 60 ปีชึ้นไป ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีอัตราการรอดชีพร้อยละ 69.2 ผู้ป่วยฟอกไตมีอัตราการรอดชีพร้อยละ 50 โดยข้อมูลนี้ในกลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีอัตราการรอดชีพมากกว่าผลการศึกษาโดย นพ.กฤษณพงศ์ ด้วยเงื่อนไขการเลือกข้อมูลวิเคราะห์แตกต่างกัน ข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการใช้ข้อมูลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 580 หน่วยบริการ ใช้ข้อมูลผู้ป่วยภายหลัง 90 วันที่เริ่มรับการรักษาและไม่นับรวมผู้ป่วยที่รักษาต่อเนื่องน้อยกว่า 90 วัน เนื่องจากผู้ป่วยที่รับการบำบัดทดแทนไตส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่แล้ว ทั้งจากภาวะโรคที่เจ็บป่วยและปัจจัยต่างๆ จึงใช้ข้อมูลหลัง 90 วันที่ผู้ป่วยเริ่มบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นผลจากการบำบัดทดแทนไตในการเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง”
อย่างไรก็ตามจากที่มีการนำเสนอข้อมูลผลกระทบจาก CAPD First Policy รวมถึงการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบอัตราการรอดชีพในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องและผู้ป่วยฟอกไต คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้ตระหนักถึงข้อมูลที่มีการนำเสนอขณะนี้ รวมถึง CAPD First Policy ที่ดำเนินมาถึง 10 ปี เห็นควรให้ทบทวนสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างเหมาะสมบนหลักวิชาการทางการแพทย์ การคำนึงถึงผู้ป่วย และบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมอบให้ นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอในการประชุมบอร์ด สปสช.ในเดือนพฤษภาคม 2560
นพ.ชาตรี บานชื่น
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธาน ตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เชิญแพทย์และนักวิชาการที่คัดค้าน สปสช.ในฐานะผู้ดำเนินนโยบาย อายุรแพทย์โรคไตดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังความเห็นรอบด้าน ขณะเดียวกันในการประชุมสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาได้หารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ โดยมีข้อเสนอให้ทำวิจัยบนหลักวิชาการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอย่างยั่งยืนต่อไป
- 47 views