จากกรณีที่ดาราได้โพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียลว่าใช้บริการทำรีเทนเนอร์จากแลปทันตกรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งทางทันตแพทยสภาได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่าพบ แลปทันตกรรมดังกล่าวได้จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ แต่ขึ้นทะเบียนเพื่อทำอุปกรณ์ฟันเทียมและรีเทนเนอร์เท่านั้น ไม่ได้ขออนุญาตให้ช่างทันตกรรมพิมพ์ฟันในช่องปากแต่อย่างใด

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่ารีเทนเนอร์ คือ เครื่องมือคงสภาพฟันหลังถอดเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นทำด้วยโลหะเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเลื่อนกลับคืนตำแหน่งเดิม เพราะว่าสภาพกระดูกและเหงือกหุ้มฟันต้องใช้เวลาในการปรับสภาพเข้ากับตำแหน่งใหม่ อันตรายจากการใช้รีเทนเนอร์ของปลอม ซึ่งจำหน่ายตามคลินิกที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีระบบที่ได้มาตรฐาน sterile เป็นเครื่องมือโดยเฉพาะเน้นเรื่องความสะอาดปลอดเชื้อไม่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค

ส่วนเรื่องของความสะอาด เช่น ขั้นตอนของการพิมพ์ฟันลูกค้า หากไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค เมื่อนำมาพิมพ์ฟันลูกค้าคนถัดไป อาจจะเป็นการนำเชื้อโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ง่ายๆ วัสดุที่นำมาทำให้ลูกค้าเป็นวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นวัสดุเลียนแบบอุปกรณ์จัดฟัน และอาจจะเป็นวัสดุเกรดต่ำที่มีสารปนเปื้อนจากโลหะหนักมีพิษ หรือสีที่ใช้ อาจไม่ใช่สีที่ปลอดภัย หากมีการหลุดลอกหรือละลาย และกลืนเข้าไปในร่างกาย อาจจะกลายเป็นสารก่อโรคได้ ที่สำคัญเมื่อใส่รีเทนเนอร์แฟชั่นเข้าไปแล้ว ก็จะเกิดแรงกดที่ตัวฟัน ทำให้ฟันเคลื่อนที่ เหงือกอักเสบ รากฟันได้รับการกระทบกระเทือน หรือไม่แบร็กเก็ตหรือลวดที่ใส่อาจจะบาดเนื้อเยื่อในช่องปาก กลายเป็นแผล ซึ่งอาจลุกลามเป็นมะเร็งได้

นพ.ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เน้นย้ำให้ประชาชนหากมีความประสงค์จัดฟันให้เลือกรับบริการจัดฟันและใส่รีเทนเนอร์จากสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายโดยสามารถสังเกตได้จากหลักฐานดังต่อไปนี้          

1. มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาตจำนวน 11 หลักติดไว้หน้าคลินิก 

2.มีใบอนุญาตการให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตดำเนินการของสถานพยาบาล แสดงไว้ในที่เปิดเผยและเห็นชัดเจน 

3.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีของปีปัจจุบัน

และ 4. มีแผ่นป้ายสีน้ำเงิน เป็นแบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะติดไว้หน้าห้องตรวจ

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ทั้งนี้หากผู้ใดเปิดคลินิกทันตกรรมโดยไม่ได้ขออนุญาตจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559  ข้อหาเปิดคลินิกเถื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากให้บริการทันตกรรมโดยไม่มีประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 ข้อหาประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอาสามัครด้านโซเชียลร่วมเป็นเครือข่ายให้ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบคลินิกทันตกรรมเถื่อน หมอเถื่อน ขอให้แจ้งที่สายด่วนกรม สบส. 02-193-7999 หรือเฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง กรมสบส. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายทันที