นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : "อภิศักดิ์" ไฟเขียวกรมบัญชีกลางเปิดประมูลทำระบบ "บัตรค่ารักษาพยาบาล" กลุ่มข้าราชการและคนในครอบครัวกว่า 5 ล้านใบ คาดใช้งบฯ 50-60 ล้านบาท เร่งร่างทีโออาร์เชิญสถาบันผู้ออกบัตรเครดิตร่วมประมูลช่วง 1-2 เดือนนี้ อธิบดีกรมบัญชีกลางย้ำสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลคงเดิม
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้สรุปแนวทางเบื้องต้นในการทำบัตรค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบแล้ว หลังจากนี้ จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบพัสดุ ที่จะต้องจัดทำร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) และประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันผู้ออก "บัตรเครดิต" เข้ามาร่วมประมูลทำระบบบัตรภายใน 1-2 เดือนนี้
โดยได้ตั้งเป้าหมายมีจำนวนข้าราชการและครอบครัวรวมกว่า 5 ล้านรายที่จะได้รับบัตรรักษาพยาบาลคนละ 1 ใบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำไปรูดใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2561 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป
"ตอนนี้ได้คอนเซ็ปต์แล้ว ผู้มีสิทธิคือข้าราชการกับคนในครอบครัว สามารถนำบัตรนี้ไปใช้เวลาที่ต้องการใช้สิทธิคือ ไปหาหมอที่โรงพยาบาล โดยสิทธิต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่จะยังคงเหมือนเดิม เคยเบิกอะไรได้ก็ได้เหมือนเดิม ส่วนตัวบัตรนี้จะใช้คอนเซ็ปต์บัตรเครดิต คือตัวบัตรจะมีวงเงิน แต่ไม่ได้จ่ายเงินไปก่อน รัฐจะจ่ายให้ภายหลังที่มีการใช้บัตรและตรวจสอบสิทธิเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐก็พัฒนาระบบงานหลังบ้าน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้สิทธิของข้าราชการและคนในครอบครัวได้" นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ การนำบัตรค่ารักษาพยาบาลมาใช้จะเป็นการสร้างระบบตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล เพราะเมื่อผู้ถือบัตรนี้นำไปใช้ในการรักษาพยาบาล ระบบจะมีการตรวจสอบสิทธิได้ทันที และจะมีการดูดข้อมูลของผู้ใช้บัตรนั้น เพื่อมาตรวจสอบที่ระบบงานหลังบ้านของรัฐ ซึ่งก็จะเห็นการเคลื่อนไหวการใช้สิทธิแล้วมีการชาร์จค่ารักษา ก็จะถูกตรวจสอบทันที อย่างน้อยจะเห็นว่าทำไมไปหาหมอบ่อย ทำไมมีการเบิกยาตัวนี้ผิดปกติ
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวว่า รูปแบบบัตรรักษาพยาบาลจะเป็นบัตรแบบแถบแม่เหล็ก ซึ่งเหมาะสมกับการใช้งาน อีกทั้งต้นทุนออกบัตรไม่สูง ซึ่งประเมินเบื้องต้นราคาบัตรไม่ถึง 10 บาทต่อใบ ดังนั้นรัฐจะใช้งบประมาณราว 50-60 ล้านบาท โดยสามารถขอตั้งงบฯกลางในปีงบประมาณ 2560 นี้ สำหรับใช้ดำเนินการได้
สำหรับเครื่องรูดรับบัตรค่ารักษาพยาบาล รัฐจะใช้เครื่องอีดีซีที่กำลังเดินหน้าติดตั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจกว่า 18,000 เครื่อง ตามโครงการ National e-Payment ซึ่งกำหนดติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2560 นี้ แต่เครื่องอีดีซีที่จะใช้กับบัตรค่ารักษาพยาบาลนี้ จะต้องมีการลงโปรแกรมให้รองรับข้อมูลการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งระยะแรกจะติดตั้งตาม โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มี อยู่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ
ขอบคุณที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 - 16 เม.ย. 2560
- 5 views