กรมบัญชีกลางเปิดเผยการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประเภทผู้ป่วยนอกผ่านบัตรประจำตัวประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ณ สิ้นไตรมาสแรก มีผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 2,311,163 ราย จำนวนการทำธุรกรรม 8,566,872 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิทั้งสิ้น 13,741 ล้านบาท พบทุจริตระงับสิทธิ 7 ราย และกลุ่มผู้มีสิทธิที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยจำนวน 65 ราย ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทุจริตในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้สรุปข้อมูลการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกโดยใช้บัตรประชาชนที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เฉลี่ยเดือนละ 1,255,717 ราย จำนวนธุรกรรมรวมทั้งสิ้น 13,568,269 รายการ เป็นจำนวนเงิน 21,892 ล้านบาท และในสิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผู้ใช้สิทธิฯ จำนวน 2,311,163 ราย จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 4,595,923 รายคิดเป็นผู้ใช้สิทธิร้อยละ 50.29 แบ่งเป็นผู้ใช้สิทธิที่เป็นเจ้าของสิทธิ จำนวน 1,119,316 ราย คิดเป็นร้อยละ 48.43 และบุคคลในครอบครัว จำนวน 1,191,847 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.57 ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมจำนวน 8,566,872 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิ จำนวน 13,741 ล้านบาท โดยช่วงอายุที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงสุดอยู่ระหว่าง 61 - 70 ปี มีจำนวน 564,820 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.44
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนนั้น สามารถตรวจสอบผู้มีสิทธิที่มีพฤติกรรมการใช้สิทธิที่ไม่เหมาะสม (Fraud Detection) ที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย Shopping ยา จำนวน 7 ราย โดยมีพฤติกรรมคือเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคเดียวกันในสถานพยาบาลตั้งแต่ 7 – 17 แห่งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน รวมมูลค่าการใช้สิทธิที่ไม่เหมาะสมจำนวน 2,924,663.65 บาท ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ระงับการใช้สิทธิของผู้กระทำดังกล่าวแล้ว และส่งข้อมูลให้ส่วนราชการต้นสังกัดเพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุดต่อไป
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มผู้มีสิทธิที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยจำนวน 65 ราย ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทุจริตในการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง โดยมีพฤติกรรมการเข้ารับการรักษาต่างสถานพยาบาลและต่างจังหวัดภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และพบว่าส่วนใหญ่ผู้มีสิทธิจะไม่ไปรับการรักษาด้วยตนเอง จะมีญาติหรือเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลเป็นผู้รับยาแทน ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว และจะดำเนินการทางกฎหมายสูงสุดให้กับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบการเบิกจ่ายตรงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐกับฐานข้อมูลการจ่ายตรงเงินเดือนเพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “CGD iHealthcare” โดยทำการลงทะเบียนขอรับรหัสผ่านเพื่อล็อคอินเข้าใช้งาน ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถตรวจสอบสิทธิของตนเองและบุคคลในครอบครัว ทะเบียนประวัติ ข้อมูลการเบิกจ่ายตรง รวมไปถึงข้อมูลอัตราค่าบริการสาธารณสุข/อัตราอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิได้เอง หากผู้มีสิทธิพบความผิดปกติของรายการค่าใช้จ่าย แจ้งกรมบัญชีกลางดำเนินการตรวจสอบเพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใสต่อไป
- 605 views