เลขาธิการ สปส.แจง กม.ประกันสังคมไม่เอื้อให้ สปส.ตั้ง รพ.ผู้ประกันตน เหตุ สปส.อยู่ในฐานะผู้ซื้อบริการ มีหน้าที่กำกับและตรวจสอบ ไม่สามารถให้บริการทางการแพทย์ในเวลาเดียวกันได้ ขณะที่กฤษฎีกาก็ระบุว่าไม่มีอำนาจตั้ง รพ. ระบุสถานการณ์ของไทยยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ สิ่งที่พอจะทำได้คือเป็นหุ้นส่วน รพ.แทน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงกรณีมีข้อเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.)จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม ซึ่งตามกฎหมายประกันสังคมในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยให้ สปส.ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลเป็นของตนเองได้ เนื่องจาก สปส.อยู่ในฐานะผู้ซื้อบริการ ซึ่งมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบผู้ให้บริการทางการแพทย์ จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่ สปส.จะทำหน้าที่ทั้งผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการทางการแพทย์ในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ สปส.ได้ให้ทุนแก่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำการวิจัยเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อผู้ประกันตน ผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่าการที่ สปส.บริหารโรงพยาบาลเองโดยตรงเป็นการเบี่ยงเบนในหลักการถ่วงดุลของผู้ซื้อบริการและให้บริการทางการแพทย์
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยตอบข้อหารือประเด็นดังกล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดตั้งโรงพยาบาล เนื่องจากการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างอาคาร ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายประโยชน์ทดแทนและไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม
แต่ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมเป็นนโยบายสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา สำนักงานประกันสังคมอาจเสนอเรื่องต่อกระทรวงแรงงานให้พิจารณาเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการในเรื่องดังกล่าวและแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดขนาดใหญ่ ซึ่งหากสำนักงานประกันสังคมจะตั้งโรงพยาบาลเอง ต้องไปดึงบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดเล็ก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และมีผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2560 สำนักงานประกันสังคมมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการในระบบประกันสังคมกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยเป็นโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 159 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 80 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลเครือข่ายที่เข้าร่วมให้บริการอีกจำนวน 3,823 แห่ง ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจัดหายาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเพียงพอ
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีการตรวจสอบโรงพยาบาลที่อยู่ในโครงการประกันสังคมทุก 6 เดือน เพื่อดูความพร้อมของโรงพยาบาลในด้านการบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ
สำนักงานประกันสังคมพร้อมปรับปรุงการให้บริการทางการแพทย์ตามความต้องการของผู้ประกันตน โดยอาจจะเป็นหุ้นส่วนของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพื่อที่จะควบคุมมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง สามารถตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และให้คำแนะนำแก่สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนมีความพึงพอใจมากขึ้น
- 36 views