สวสส.ชี้งานรณรงค์ความเสี่ยงสุขภาพในไทยตีตรา ลดทอนคุณค่ากลุ่มเป้าหมาย จับมือ สสส.ใช้มุมมองทางวัฒนธรรมช่วยศึกษาปัจจัยต่อพฤติกรรมเสี่ยง คาดทำให้แยกย่อยกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและทบทวนนโยบายการรณรงค์ได้ตรงจุดมากขึ้น

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) เปิดเผยว่า สวสส.อยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่มีผลต่อพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพื่อนำมุมมองทางด้านมานุษยวิทยา มาทำความเข้าใจเชิงลึกต่อพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การทบทวนนโยบายการรณรงค์ส่งเสริมและป้องกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

นพ.โกมาตร กล่าวต่อไปว่า การรณรงค์ด้านสุขภาพในช่วงที่ผ่านมา จะใช้มุมมองทางการแพทย์เป็นตัวหลัก เช่น สิ่งนี้ทำให้เกิดโรค ก็ถือว่าสิ่งนี้เป็นปีศาจร้าย นำไปสู่การมองกลุ่มเสี่ยงในลักษณะตีตรา ผลักดันให้เป็นคนอื่น หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ จนอาจกลายเป็นกระแสต่อต้านได้ ประกอบกับ การรณรงค์ด้านสุขภาพในเมืองไทยเริ่มมาถึงเพดานความสำเร็จ เช่น การรณรงค์งดสูบบุหรี่ แม้จะมีกฎหมายห้ามโฆษณาทางสื่อและมาตรการอื่นๆ มาหลายปี แต่พบว่าสัดส่วนนักสูบโดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ลดลงน้อยมากจนแทบไม่มีนัยยะสำคัญ 

ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จึงมีแนวคิดในการนำปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและทบทวนแผนการทำงานใหม่

“ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง เรามีแนวโน้มที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยขาดการแยกแยะทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เวลาบอกว่าคนดื่มเหล้า การรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องเหล้าของไทยอาจไปสร้างภาพของคนกลุ่มหนึ่งที่กินเหล้าและทำงานกับคนกลุ่มนั้นว่าพวกนี้จน เครียด กินเหล้า แต่จริงๆ แล้วคนกินเหล้ามีตั้งหลายแบบ วัยรุ่นกินเหล้าแบบหนึ่ง นักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ คนแก่ ผู้หญิงก็กินอีกแบบหนึ่ง คนกินเหล้าคนเดียวอยู่บ้านกับคนไปกินเหล้ากับเพื่อน ก็เป็นคนละวิธีคิด คนละพฤติกรรม ผลกระทบก็แตกต่างกัน เมื่อทำงานเกี่ยวกับความเสี่ยงโดยขาดการจำแนกแยกแยะ มันก็เลยทำให้งานไปถึงเฉพาะบางกลุ่ม และไม่สามารถเห็นได้ว่าความหลากหลายเหล่านี้ต้องการวิธีทำงานที่ต่างกัน” นพ.โกมาตร กล่าว

นพ.โกมาตร กล่าวด้วยว่า ผลที่คาดว่าจะได้จากการศึกษาดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดคือคนกำหนดนโยบาย และคนที่ทำงานด้านการรณรงค์ความเสี่ยงสุขภาพ ไม่ได้มองภาพว่ามีแต่ขาวกับดำ และช่วยให้ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดตามลักษณะของวัฒนธรรมย่อยในแต่ละกลุ่ม เช่น ใช้วิธีการควบคุมการบริโภค (Consumption Control) หรือเลือกที่จะอนุญาตให้บริโภคในระดับหนึ่ง แต่ไปควบคุมในความเสียหายที่จะเกิด (Harm reduction) เช่น กลุ่มที่ถ้าดื่มเหล้าอยู่บ้านไม่ต้องควบคุม แต่ถ้าดื่มเหล้าแล้วขับรถต้องควบคุมไม่ให้เกิด อุบัติเหตุ ไม่ให้เกิดการชกต่อย เป็นต้น

“อย่างแวดวงคนทำงานรณรงค์แอลกอฮอล์ในต่างประเทศไม่ได้ควบคุมการบริโภค แต่เน้นการลดอันตรายในพื้นที่ เช่น ให้บาเทนเดอร์เป็นผู้กำหนดว่าใครควรหรือไม่ควรดื่มต่อ โดยรัฐมีรายได้ตอบแทนไม่ให้บาร์เทนเดอร์เชียร์ให้คนดื่มเหล้าเพื่อหวังค่าคอมมิชชั่น หรือที่เนเธอร์แลนด์มีการกำหนดเป็นกฎหมายออกมา ถ้าปกติดื่มที่ผับใช้แก้วได้ แต่เมื่อออกมาข้างนอกต้องใช้แก้วพลาสติก เพราะเวลาทะเลาะวิวาทจะลดอันตรายลงได้ และในแวดวงยาเสพติดก็เช่นการให้เข็มฉีดยาปลอดเชื้อแก่ผู้ติดยา ซึ่งช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีได้ลงมาก” นพ.โกมาตร ยกตัวอย่าง

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สวสส. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งผลการศึกษาที่ได้รับ จะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ของ สสส.ต่อไป โดยจะศึกษาประเด็นความเสี่ยงสุขภาพทั้งหมด 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.สุรา 2.บุหรี่ 3.อุบัติเหตุ 4.ยาเสพติด 5.ภัยพิบัติ 6.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และ 7.การพนัน

อย่างไรก็ดี ในระยะ 3 ปีแรก จะทำการศึกษาใน 4 ประเด็นก่อน คือ สุรา บุหรี่ อุบัติเหตุ และยาเสพติด โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนของการทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนสถานะองค์ความรู้ของปัจจัยเสี่ยง 4 เรื่องนี้ และดูว่าจากการทบทวนวรรณกรรม ยังมีช่องว่างอะไรที่ต้องศึกษากันต่อ เพื่อนำช่องว่างความรู้นี้มาพัฒนาผลการวิจัยและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในระยะต่อไป