บอร์ด สปสช.บูรณาการทุกหน่วยงาน เดินหน้าสิทธิประโยชน์ “สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ควบคู่สิทธิประโยชน์รักษาต่อเนื่องปีที่ 15 มุ่งลดอัตราเจ็บป่วยที่ป้องกันได้ เผย ปี 60 บอร์ด สปสช.จัดสรรงบ 301.88 บาทต่อประชาชนไทยทุกสิทธิ 65.5 ล้านคน ดูแลครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มวัยทั่วประเทศ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตยืนยาวขึ้น ช่วยลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงอนุมัติการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนับตั้งแต่เริ่มแรกของการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการการควบคู่กับการจัดบริการรักษาพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง
ในปีงบประมาณ 2560 บอรด์ สปสช.ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ยังคงเดินหน้าจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้โดยตรงแก่บุคคลสำหรับประชาชนไทยทุกคนอย่างต่อเนื่อง 301.88 บาท ต่อประชากรไทยทุกคน จำนวน 65.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 175 บาทต่อประชากร โดยดำเนินการภายใต้ประกาศประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข ฉบับที่ 10 ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2559
ทั้งนี้งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี 2560 บอร์ด สปสช.ได้กระจายงบประมาณตามการดำเนินงาน คือ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการในชุมชน บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาพื้นที่ระดับเขต/จังหวัด บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐาน และบริการที่จ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เหมาะสม รวมถึงบริบทแต่ละพื้นที่
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ผู้มีสิทธิจะได้รับบริการนั้น สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยพึงได้รับตามแนวทางหรือแนวเวชปฏิบัติและมาตรฐานบริการ เป็น 5 กลุ่มวัย คือ
1.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การทดสอบตั้งครรภ์ การบริการฝากครรภ์คุณภาพอย่างน้อย 5 ครั้ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น การตรวจคัดกรองโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย การตรวจเอชไอวี การตรวจคัดกรองดาวน์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก การรับยาเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก ไอโอดีน สมุดบันทึกแม่และเด็ก ส่งเสริมการให้นมแม่ในหญิงหลังคลอดบุตร เป็นต้น
2.กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไป วิตามินเค คัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน วัคซีนพื้นฐาน อาทิ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยักและไอกรน วัคซีนโปลิโอ วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน และคางทูม เป็นต้น ประเมินการเจริญเติบโต ตรวจคัดกรองพัฒนาการ คัดกรองภาวะสายตาผิดปกติ ตรวจสุขภาพช่องปากและทาฟลูออไรด์วานิช และสมุดบันทึกแม่และเด็ก เป็นต้น
3.กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไป วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก วัคซีนป้องกันโปลิโอ วัคซีนหัดเยอรมันและคางทูม วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คัดกรองโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก คัดกรองสุขภาพช่องปากในโรงเรียน คัดกรองภาวะสายตาผิดปกติ คัดกรองความผิดปกติทางการได้ยิน คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเสพสารเสพติด และบริการอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันและควบคุมการตั้งครรภ์วัยรุ่นและการตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ เป็นต้น
4.กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไป วัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คัดกรองความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเสพสารเสพติด วัดความดันโลหิต คัดกรองเบาหวาน คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ให้คำปรึกษาและคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เคลือบฟลูออไรด์ อนามัยเจริญพันธุ์ ป้องกันและควบคุมการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และเยี่ยมบ้านชุมชนในกลุ่มผู้พิการ เป็นต้น
5.กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้แก่ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไป วัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประเมินภาวะโภชนาการ วัดความดันโลหิต คัดกรองเบาหวาน คัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คัดกรองความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ประเมินสมรรถนะผู้สูงอายุ และคัดกรองและประเมินโรคซึมเศร้า เป็นต้น
“งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สสส. สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการดำเนินงาน กำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมป้องกันที่เป็นมาตรฐานมีประสิทธิผลตรงกลุ่มเป้าหมายจริงตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งลดอัตราการเจ็บป่วยและยกระดับสุขภาพของคนไทยตามนโยบายของรัฐบาล” รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 67 views