“โมเดลแห่งน้ำใจ” โครงการธนาคารเครื่องมือแพทย์ รพ.ชลประทาน ต่อยอดจากศูนย์มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน เผย 4 ปี ประสบความสำเร็จ สะท้อนคนไทยชอบเหลือผู้ขาดโอกาส บริจาคของให้ผู้ป่วยยามเดือดร้อน
นางอมราพร องอาจอิทธิชัย
นางอมราพร องอาจอิทธิชัย หรือป้าแดง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน รพ.ชลประทาน กล่าวว่า จากที่ได้จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดฯ และทำโครงการธนาคารเครื่องมือแพทย์ขึ้นให้ผู้ป่วยได้ยืมใช้มาเป็นเวลา 4 ปี พบว่า มีผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มขึ้น พร้อมกับผู้ที่มาบริจาคเครื่องมือแพทย์ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีน้ำใจและรักการช่วยเหลือ
นางอมราพร กล่าวว่า ที่มาของโครงการนี้แรกเริ่มมาจากเมื่อปี 2556 ตนเองเป็นพยาบาลจิตเวชให้การปรึกษาผู้ป่วย แต่เวลาผู้ป่วยจะกลับบ้าน กลับไม่อยากกลับเพราะขาดคนดูแล อีกเหตุผลคือญาติผู้ป่วยรายได้น้อยและขาดอุปกรณ์ดูแลที่บ้าน อีกอย่างคือ แม้มีเงิน แต่ก็ขาดความมั่นใจที่จะจ้างคนมาดูแล นอกจากจะให้พยาบาลคอยดูแลให้
ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ จึงปรึกษากับจิตอาสาซึ่งแต่ก่อนมีหลากหลายทั้ง ครูเกษียณ แม่บ้านอายุ 60 กว่าปี ที่อยู่ใกล้วัดชลประทาน มีจิตใจฝักใฝ่ธรรมมะ บางส่วนเป็นคนไข้จิตเวช แต่ไม่ได้เป็นมาก เขาก็มาช่วยกัน จนได้ข้อสรุปว่า คนไข้รายไหนจะกลับบ้าน ใครอยากทำบุญเราจะซื้อของให้ หรือ นิมนต์พระมาสังฆทาน กระทั่งผู้ป่วยรายใดเสียชีวิตเราก็ประสานวัดชลประทานหรือเป็นศูนย์กลางในการทำบุญ จนต่อมาก็คิดต่อเรื่องการให้ยืมอุปกรณ์บางชนิดซึ่งมาจากผู้ป่วยด้วยกันที่ไม่ใช้แล้วเนื่องจากหายป่วย บางส่วนก็เสียชีวิต ญาติไม่อยากเก็บไว้ แต่ทางศูนย์จะให้ยืมแทนโดยให้คนไข้ที่ต้องการบริจาคตามกำลัง พร้อมกับช่วยสอนอุปกรณ์ให้
นางอมราพร กล่าวต่อว่า ช่วงแรกก็ซื้อเครื่องดูดเสมหะ ที่นอนลม แต่ตอนหลัง คนไข้ที่เคยซื้ออุปกรณ์เองเสียชีวิต ญาติๆ ก็เอาอุปกรณ์เหล่านี้มาบริจาค เราก็จะได้ของที่เหลือซึ่งเริ่มเยอะขึ้น เนื่องจากเราเปิดให้ทำบุญ และผู้ป่วยที่มายืมอุปกรณ์ไปใช้ที่บ้าน เราก็ไม่จำกัดว่าจะให้คืนเมื่อไร เพียงแต่เป็นสัญญาใจว่า ต้องเอามาคืนที่ศูนย์ ซึ่งตั้งแต่ทำมาไม่เคยมีปัญหาเรื่องไม่คืนอุปกรณ์ เพราะนิสัยคนไทยจะไม่ติดค้างในการทำบุญเพราะกลัวบาป บางคนที่เป็นคนไข้ของทางศูนย์ เขาก็รวบรวมเงินจากเพื่อนๆ มาทำบุญ ซื้ออุปกรณ์แพมเพิสเหมือนที่พ่อเขาใช้และเสียชีวิต เอามาให้เรา มันเป็นความสุขที่ต่ยอดบริการ
สำหรับเงินทุนช่วงที่ก่อตั้งศูนย์มิตรภาพบำบัดฯ ได้งบประมาณครั้งแรกจาก “กองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” และ สปสช.เขต 4 จำนวน 5 หมื่นบาท จนนำมาทำเรื่องจิตอาสา ครั้งที่สองได้มาอีก 5 หมื่นบาท นำมาใช้จัดกิจกรรมในส่วนของเครือข่ายที่ขยายไปยัง จ.สมุทรปราการ จากนั้นก็หางบระดมทุนเอง จนปัจจุบันผลจากการทำโครงการแต่ละปี ก็ได้เงินบริจาคกลับมา และมอบให้กับ มูลนิธิของ รพ.ชลประทาน โดยปีที่แล้วมอบให้ 2 แสนบาท
หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดฯ รพ.ชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 ของโครงการ มีตัวเลขการยืมอุปกรณ์ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยในปี 2556 มีผู้มาใช้บริการทั้งปี 19 ราย ปี 2557 จำนวน 266 ราย ปี 2558 จำนวน 564 ราย ล่าสุดปี 2559 จำนวน 849 ราย จำนวนนี้เป็นของหนัก 60% อุปกรณ์ที่ยืมบ่อยที่สุดคือ เตียงเพราะราคาแพง ตามด้วย ที่นอนลม สำหรับผู้ป่วยที่ขยับตัวไม่ได้ เครื่องดูดเสมหะ เครื่องผลิตออกซิเจน ซึ่งปกติราคาสูง ราคา 18,000 บาท แต่ถ้าเขามีรายได้น้อย ก็จะให้ทั้ง 2 อย่าง ทั้งถังออกซิเจนด้วยเวลาไฟดับ
ส่วนรถเข็น ปัจจุบันมีคนจากโรตารีมาบริจาค ปีที่แล้วให้มา 18 คัน ก็ใช้หมด ปีนี้ให้มาอีก 30 คัน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 10 คัน นอกจากนี้บางส่วนมาขอแพมเพิส สายดูดเสมหะ ขอรถเข็น ขอกายอุปกรณ์ walker ที่นั่งถ่าย ไม้เท้าเดี่ยว สามขา ส่วนของที่ต้องการมาก แต่มีให้น้อยคือ ถุงมือกันดึง เก้าอี้นั่งถ่าย สายดูดเสมหะ กระบอกฉี่ เก้าอี้อาบน้ำ โต๊ะคร่อมเตียง
เธอบอกว่า เงื่อนไขในการยืมอุปกรณ์ จะให้ผู้ป่วยบริจาคตามสะดวก แต่กำหนดไว้ว่า เตียงต้องบริจาค 1,000 บาท เพราะราคาสูง ส่วนอุปกรณ์ที่เหลือก็แล้วแต่ อย่างรถเข็นบางคนก็ให้ 200 บาท ส่วนใหญ่ก็ช่วย 100 บาท
"เราจะไม่เน้นซื้อใหม่ แต่จะเอาของเก่ามาบริหาร คนไทยมีน้ำใจ และแปลกมากน้ำใจที่เราได้ส่วนใหญ่ได้จากคนที่มีเงินน้อย พอเขามาใช้บริการเรา เขาก็พยายามจะช่วยแบบบอกต่อ คนที่เห็นความสำคัญคือคนที่มาใช้บริการ ป้าแดงประทับใจคนไทยมีน้ำใจนี่แหละ ตอนหลังมาจะมีน้องๆ จากโรงเรียนฝรั่งมาฝึกงาน เพราะพ่อแม่ที่เขาเคยผ่านเรื่องเหล่านี้ เขาจะเอาของมาบริจาคให้ พอปิดเทอมเขาก็ส่งลูกมาเป็นจิตอาสา รู้จักรับใช้ ดูแลคนอื่น เรารับด้วยนะคะ ถ้ามีเด็กนักเรียนมาเป็นจิตอาสา" นางอมราพร กล่าว
รพ.ชลประทาน ตั้งอยู่ อ.ปากเกร็ด ภายในกรมชลประทาน ตรงหน้าวัดชลประทาน ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ รพ.ชลประทาน โทร.0-2502-2345 ต่อ 1086 หรือ 0-2502-2320
- 3195 views