รมว.สาธารณสุข มอบนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศ ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อรองรับนโยบายคลินิกหมอครอบครัวให้มีทุกเขตสุขภาพ 

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ และอาจารย์แพทย์ ประมาณ 70 คน ร่วมรับฟัง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ชนบทยังขาดแคลนแพทย์และมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการกระจายแพทย์ที่ไม่สมดุลในเขตเมืองและเขตชนบท แพทย์ในชนบทมีอัตราการย้ายหรือลาออกมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ของประเทศเท่ากับแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องร่วมกันสร้างแนวคิดใหม่ในการผลิตแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อให้สามารถอยู่ในชนบทได้นาน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกที่ชุมชนมีส่วนร่วม การจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมกับการทำงานในชนบท การดูแลเกื้อหนุนเมื่อจบเป็นแพทย์แล้ว ซึ่งตั้งเป้าให้ประเทศไทยมีแพทย์ต่อประชากร คือ แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,500 คน

และเร่งผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวให้เพียงพอ เพื่อรองรับนโยบายคลินิกหมอครอบครัวให้ครบทุกเขตสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว มี 2 แบบ คือ

1.ผลิตที่ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกด้วยตนเอง

2.ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนในการผลิต (In Service Training) โดยหลักสูตรที่ใช้ผลิตจะเป็นของราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ตรอบครัว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2537 โดยเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2538 จำนวน 8 คน โดย รพศ.ขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในปัจจุบัน มีบัณฑิตจบจากโครงการทั้งสิ้น 16 รุ่น รวม 6,955 คน โดยมีแผนการรับนักศึกษาในปี 2560 อีกจำนวน 1,160 คน คิดเป็นร้อยละ 36.2 ของการรับนักศึกษาแพทย์ทั้งประเทศ

ส่วนทางด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักศึกษา 16 รุ่น พบว่า จบการศึกษา ร้อยละ 99.6 สอบผ่าน national license ทั้ง 3 ตอนของแพทย์สภา ร้อยละ 99.4 และได้รับเกียรตินิยมร้อยละ 8.5 และจากการติดตามบัณฑิตพบว่า ร้อยละ 81.5 ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยร้อยละ 96.0 ปฏิบัติงานอยู่ในเขตสุขภาพที่เป็นภูมิลำเนา และร้อยละ 77.9 ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน

และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2570 กระทรวงสาธารณสุขพร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศ โดยมีนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ดำเนินการประสานงานกับศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกของโรงพยาบาล 37 แห่ง 14 มหาวิทยาลัยและคณะแพทย์ร่วม 15 คณะ ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ทำหน้าที่ผลิตแพทย์รองรับการขยายการให้บริการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย