กรมควบคุมโรคลงนาม 13 อปท.ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งพบว่าในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด 18,922 ราย
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมผู้บริหารจากกรมควบคุมโรค และผู้ร่วมลงนามจาก 13 หน่วยงาน ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินงานลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน ให้เกิดการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชนแบบยั่งยืนและขยายผลต่อไป
นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) ที่เป็นปัญหาที่สำคัญของไทย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ โดยองค์การอนามัยโลก คาดว่าในปี 2574 ประชากรโลกจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจถึง 23 ล้านคน
ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2555–2558 อัตราตายต่อประชากรแสนคนด้วยโรคหัวใจขาดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ 23.45, 26.91, 27.83 และ 28.92 ตามลำดับ โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 18,922 ราย
นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการโครงการองค์กรหัวใจดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครใจในจังหวัดที่มีอัตราตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือดสูง 15 จังหวัดแรก เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงาน เป็นองค์กรต้นแบบในการลดพฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด
ส่วนในปี 2560 นี้ กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ขยายผลการดำเนินงานลงสู่ชุมชน โดยมีพิธีลงนามบึนทึกข้อตกลงความร่วมมือลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ร่วมกับ 13 หน่วยงาน ได้แก่
1.เทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
2.เทศบาลเมืองน่าน จ.น่าน
3.เทศบาลเมืองสระบุรี จ.สระบุรี
4.เทศบาลเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง
5.เทศบาลเมืองลำตาเสา จ.พระนครศรีอยุธยา
6.เทศบาลเมืองบ้านโป่ง จ.ราชบุรี
7.เทศบาลเมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี
8.เทศบาลเมืองชุมพร จ.ชุมพร
9.เทศบาลเมืองตะกั่วป่า จ.พังงา
10.เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง จ.แพร่
11.เทศบาลตำบลสว่างแจ้งสบายใจ จ.อุทัยธานี
12.เทศบาลตำบลเขาพระงาม จ.ลพบุรี
และ 13.องค์การบริหารส่วนตำบลต้นโพธิ์ จ.สิงห์บุรี
สาระสำคัญของ MOU คือ ให้ทุกภาคส่วนของชุมชน ร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อนชุมชนแบบมีส่วนร่วมที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทของชุมชน ให้เกิดกระบวนการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจขาดเลือดอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการดูแลสุขภาพในชุมชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการระดมทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกระบวนการร่วมคิดร่วมทำในชุมชนอย่างเป็นระบบ
หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 13 views