กรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการวินิจฉัย โรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) สูตรผสมกัญชา พร้อมย้ำทีมสาธารณสุขเฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินรับมือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2562 นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรค พบผู้ป่วยเพศชาย อายุ 48 ปี ได้รับการส่งตัวมารักษายังโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น และระบบการหายใจล้มเหลว จากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยสูบก่อนนอนทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 62 โดยวันที่ 10 พ.ย. 62 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย มีไข้ และเจ็บหน้าอก โดยอาการหอบเหนื่อยเป็นมากขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. 62 จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และได้รับการส่งตัวมารักษาต่อยังโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งในวันที่ 18 พ.ย. 62
เนื่องจากผลทางห้องปฏิบัติการ ตรวจไม่พบการติดเชื้อในปอด และอาการของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า ตามแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (US-CDC) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและระบบการหายใจ จึงได้ให้การวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผู้ป่วยได้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือดดำ และได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ตอบสนองต่อการรักษา และสามารถไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจและภาวะวิกฤต กล่าวถึงสถานการณ์การพบผู้โรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายอื่น ๆ อีก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่องถึงผลการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าอาการดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อจากโรคประจำตัวเดิม หรือจากยาอื่น ที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ก่อน โดยประเด็นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและระบบการหายใจ และแพทย์ในสถานพยาบาลทุกภาคส่วนในการติดตาม รวมถึงรายงานผู้ป่วยต้องสงสัย
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายโรคปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า สามารถรายงานมายังกรมควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมระบบรายงานโรคและภัยสุขภาพ ให้สถานพยาบาลทุกแห่งสามารถใช้ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย ในการวินิจฉัยหรือการรักษา สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญตามระบบการให้คำปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขของเขตบริการสุขภาพ หรือปรึกษาไปยังสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 0 2590 3850 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 69 views