ผู้แทน อปท.ในบอร์ด สปสช.รับกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานท้องถิ่น ติดลบ 2,600 ล้าน ต้องยืม สปสช.สำรองจ่าย ชี้ถ้ารัฐบาลยังไม่แก้ ก็จะเกิดวิกฤตอีก 2 เดือนข้างหน้า และสร้างภาระต่อ สปสช.อีก ร้อง มท.รีบเคลียร์ให้ชัดจะได้งบกลางจาก ครม.มาสนับสนุนหรือไม่
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม ผู้แทนเทศบาล บอร์ด สปสช. และ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท. มีตัวเลขติดลบ 2,600 ล้านบาท ซึ่งยังมีพอจ่ายอยู่ถึงเดือนเมษายนปีนี้ และได้เสนอทางออกให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ของบกลางจากคณะรัฐมนตรีมาอุดหนุนแก้ปัญหาโดยด่วน โดยเบื้องต้นงบปีนี้ที่ต้องบริหารค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้าง อปท.อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ตั้งอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แต่ถ้าทุกอย่างยังไม่มีทางออกภายในเดือน เม.ย.ก็จะเกิดวิกฤตได้
“ตอนนี้ก็พยายามติดตามสถานการณ์อยู่ว่า จากนี้เมื่อ สปสช.มีมติแล้วว่า ให้ทำหนังสือถึงมหาดไทย ก็ได้ประสานกับ มท.และอาจต้องคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจที่อยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี อีกครั้งว่าจะมีมติหรือความเห็นอะไร แต่วันนี้เรายังจัดการเบิกจ่ายค่ารักพยาบาลให้กับ อปท.ได้ เพราะเม็ดเงินยังมีอยู่” นายธีรวุฒิ กล่าว
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า สาเหตุที่เกิดปัญหาเนื่องจากกองทุนรักษาพยาบาลของ อปท.ดังกล่าวซึ่งตั้งเมื่อหลายปีก่อน โดยปีแรกตั้งไว้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แต่ใช้จริง 2,000-3,000 กว่าล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะ อปท.ยังมีบุคลากรน้อย และเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ทั้งนี้เดิมทีได้ให้ อปท.บริหารเงินและเบิกกันเอง แต่ก็พบปัญหาว่า อปท.ขนาดเล็กไม่มีเงิน ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ให้ สปสช.เป็นผู้บริหารกองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท. เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีหน้าที่จัดการเรื่องสุขภาพของประเทศ แต่เงินของกองทุนนี้ใช้เงินของ อปท. ซึ่งมาจาก 2 ส่วน คือ รัฐจัดให้ กับ อปท.จัดเก็บได้เอง แล้วจึงโอนมาให้ สปสช.บริหารเพราะประสิทธิภาพดีกว่า และจะช่วยแก้ความซ้ำซ้อนลง
ทั้งนี้ เมื่อพนักงานและลูกจ้าง อปท.เริ่มรู้สิทธิ์ ตัวเลขการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็สูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง8,000 ล้านบาท มาเริ่มมีปัญหาเมื่อปีที่แล้วที่กองทุนฯ ติดลบอยู่ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงปลายปี จึงมีเงินจัดสรรเข้ามา ทำให้เอาไปจ่ายได้ เมื่อคำนวณคร่าวๆ ตอนนี้ตามที่ได้รับเงินจัดสรรถึงเดือนเมษายน 2560 จะมีงบขาดปีนี้ 1,600 ล้านบาท รวมปีที่ผ่านมาอีก 1,000 ล้านบาท ก็เป็น 2,600 ล้านบาทดังที่ได้กล่าวข้างต้น
นายธีรวุฒิ กล่าวว่า ได้เสนอทางออกในบอร์ด สปสช.ว่า ตามข้อตกลงเดิมหรือเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับ สปสช.กำหนดว่าถ้าเงินของกองทุนฯ เหลือจากการรับจัดสรรของรัฐบาลก็ให้เก็บเอาไว้บริหารต่อในปีถัดไป แต่ถ้าเงินหมดก็ทำสองส่วน คือ 1.ขอให้ สปสช.สำรองเงินก่อนแล้วก็ไปขอรับจัดสรรเพิ่มในปีถัดไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้ สปสช.จ่ายให้ถาวร แต่ก็ยอมรับว่า สปสช.มีภารกิจดูแลสวัสดิการถ้วนหน้าของประชาชน ก็มีภาระสูงและเกรงว่าเงิน สปสช.จะไม่เพียงพอหากต้องสำรองจ่ายให้กับกองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานและลูกจ้าง อปท.และก็ยิ่งจะทำให้ สปสช.มีปัญหาได้
2.ระหว่างที่ให้ สปสช.สำรองจ่าย ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการของบประมาณเพื่อมาจ่ายชดเชย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ยังไม่ถึง เพราะต้อรอเดือนเมษายน แต่ตนเองได้รายงานต่อบอร์ด สปสช.ให้รับรู้ตัวเลขประมาณการที่คาดว่าจะมีปัญหาถ้าเดือนเมษายนยังไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่ม เพื่อรายงานกับต้นสังกัดของ อปท. คือกระทรวงมหาดไทย แต่หน่วยงานที่อุดหนุนเงิน กลับกลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นก็ต้องเร่งให้ มท.คุยกับคณะกรรมการกระจายอำนาจว่าจะเอาอย่างไร จะของบกลางหรือไม่
ขอบคุณภาพจาก RSUTV
- 4 views