เปิดโมเดลโรงพยาบาลแพร่ จัดระบบผ่าตัดเร็ว Fast track กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ช่วยลดอัตราโรคแทรกซ้อนได้ถึง 10 เท่า แพทย์ ระบุ 1 ใน 3ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัด จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้มีคนไข้ในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเทียบเคียงจากอดีตที่พบเพียงวันละ 1 ราย หรือวันเว้นวัน ปัจจุบันกลับพบไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ราย
นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า คนไข้กระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร็วที่สุด โดยประเทศอังกฤษซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศไทยได้ตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องนี้โดยตรง และพบว่าหากไม่รีบรักษาคนไข้กระดูกสะโพกหัก จะส่งผลต่อภาระงบประมาณและความทุกข์ทรมานแก่คนไข้และญาติ ที่สำคัญคือคนไข้มีโอกาสพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ผลการวิจัยของประเทศอังกฤษพบว่า วิธีที่รักษากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด ที่สำคัญคือจะต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุดคือภายใน 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะหากผ่าตัดหลังจากช่วงเวลานั้นจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับคนไข้จำนวนมาก อาทิ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ข้อติดข้อยึด เดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ และนำไปสู่การเสียชีวิต
“มีงานวิจัยระบุว่าถ้าคนไข้ได้รับการผ่าตัดช้าจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเร็วถึง 10 เท่า และยังพบอีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดจำนวน 10% จะเสียชีวิตภายใน 1 เดือน และอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด ภายในระยะเวลา 1 ปี” นพ.ลักษณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการศึกษาต่อไปอีกว่าหากคนไข้เป็นผู้สูงอายุมากๆ และมีโรคแทรกซ้อนเยอะ ยิ่งต้องกระตุ้นให้ได้รับการผ่าตัดให้เร็วขึ้นอีก คือภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากกระดูกสะโพกหัก ซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้นไปอีก ฉะนั้นแนวโน้มหลังจากนี้คือจะผ่าตัดเร็วขึ้น
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อประเทศอังกฤษศึกษาและออกแบบแนวทางการรักษามาแล้ว โรงพยาบาลแพร่จึงได้นำโมเดลเดียวกันนี้มาใช้ โดยได้จัดระบบ Fast track ให้กับผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหักให้ได้รับการผ่าตัดอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งจากการดำเนินโครงการมาระยะเวลาร่วม 10 ปี พบว่าสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนได้จำนวนมาก
“การรักษาของประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ใช้วิธีดึงขาถ่วงไว้ บางครั้งก็ไม่ผ่าตัด หรือแพทย์เองก็ไม่เชียร์คนไข้ให้ผ่าตัด ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทำให้บาดเจ็บเนื้อเยื่อน้อย ใช้เวลาผ่าไม่เกิน 30 นาที หรือบางรายเพียง 12-15 นาที เพราะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน และแพทย์กระดูกทุกรายมีความสามารถในด้านนี้” นพ.ลักษณ์ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ Fast track hip (กระดูกสะโพก) ของโรงพยาบาลแพร่ เริ่มจากการประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนที่กระจายตัวอยู่ใน จ.แพร่ เมื่อโรงพยาบาลชุมชนพบคนไข้และวินิจฉัยแล้วว่าคนไข้กระดูกสะโพกหัก แพทย์ก็จะอธิบายถึงความเสี่ยง แนวทางการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด
หลังจากนั้นเมื่อคนไข้และญาติยินยอมผ่าตัด ทางโรงพยาบาลชุมชนก็จะเตรียมตัวคนไข้ให้พร้อมผ่าตัดตั้งแต่ต้นทาง เช่น ให้งดน้ำงดอาหาร จากนั้นก็จะส่งต่อคนไข้มายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแพร่ ซึ่งทางโรงพยาบาลแพร่ก็จะมีกระบวนการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ไปทำการเจาะตรวจ เอ็กซเรย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัด
ทั้งนี้ เมื่อเตรียมความพร้อมครบถ้วน ทางห้องฉุกเฉินก็จะส่งตัวคนไข้มาที่ตึกเพื่อรอการผ่าตัด ที่ตึกก็จะมีการเตรียมพร้อมห้องพักเพื่อป้องกันแผลกดทับ จากนั้นก็เข้าสู่ระบบการผ่าตัดให้เร็วที่สุด ซึ่งหากผลการประเมินยืนยันว่าคนไข้พร้อมผ่าตัด ก็จะได้รับการผ่าตัดภายในคืนเดียวกันนั้นเลย และเช้าวันรุ่งขึ้นแพทย์ก็จะไปจับคนไข้ลุก นั่ง ยืน เดิน และให้กลับบ้านได้ภายในเที่ยงวันของวันถัดมา
“หากปล่อยเอาไว้หลายวัน ผู้สูงอายุจะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและฟื้นตัวช้า ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนไข้ 80-90% จะได้รับการผ่าตัดภายในคืนที่ส่งตัวมา และตอนเช้าก็จะสามารถเดินได้ และกลับบ้านได้” นพ.ลักษณ์ กล่าว
หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ กล่าวอีกว่า การทำงานของโรงพยาบาลแพร่จะทำงานเป็นทีม คือใช้งานวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นตัวนำ ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายก็จะเข้าใจตรงกันว่ากระดูกสะโพกหักเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ทั้งแพทย์ผู้ผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ รวมถึงอายุรแพทย์ที่ร่วมประเมินคนไข้ในรายที่มีความซับซ้อน จะรู้สึกร่วมและภูมิใจที่ได้รักษาคนไข้
“เมื่อผมผ่าตัดเสร็จแล้วก็จะรายงานทุกคนให้ทราบทั้งหมดว่าคนไข้เดินกลับบ้านได้แล้วนะ ทั้งคุณหมอดมยาและอายุรแพทย์ ก็จะรับรู้ทุกครั้ง เขาก็ดีใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้แล้ว" นพ.ลักษณ์ กล่าว
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยมีคนนำโมเดลนี้มาใช้น้อยมาก ที่ทำจริงจังก็มีเพียงโรงพยาบาลเอกชนที่มีจุดขายคือการให้บริการที่รวดเร็ว อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพก็เพิ่งทำเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ ก็สามารถดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ได้ เพียงแค่ตระหนักและเห็นความสำคัญ ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจที่โรงพยาบาลแพร่เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่รักษาคนไข้ฟรีตามสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง และได้ช่วยเหลือคนไข้มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี
- 1404 views