แพทย์ รพ.แพร่ สนับสนุนสุดตัว รัฐเปิดช่องให้ อปท.จ้างนักบริบาลชุมชนดูแลผู้สูงอายุติดเตียง เผยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้าน เกิดการจ้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ระบุเป็นนโยบายที่ดีมากๆ
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ผู้ป่วยติดติดเตียง) ภายใต้โครงการท้องถิ่นทั่วไทยผู้สูงอายุมีคนดูแล ที่จะมีการปรับแก้ระเบียบกฎหมายเพื่อปลดล็อคให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจ้างนักบริบาลชุมชนหรือ Care Giver ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ดีมากและนับเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า ธรรมชาติของครอบครัวในท้องถิ่นจะมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว แต่ปัจจุบันปัญหาคือผู้สูงอายุต้องดูแลกันเองหรือถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว เนื่องจากบุตรหลานต้องออกไปทำงานในเมืองหรือนอกพื้นที่ ดังนั้นหากผู้สูงอายุรายใดที่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ ไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก
“จากประสบการณ์การทำงานในชุมชน ผมยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริงๆ และเห็นจนชินตา แต่ไม่เคยมีการแก้ไขปัญหา ผู้สูงอายุที่ไปไหนไม่ได้ต้องรอลูกหลานมาหาข้าวหาปลาให้กิน บางรายลูกหลานเตรียมข้าววางไว้แต่ผู้สูงอายุกินเองไม่ได้ ข้าวก็มดขึ้น หูตาไม่ดีก็กินกันทั้งอย่างนั้น หรือบางรายก็ขับถ่ายบนเตียงและแช่อยู่อย่างนั้น คุณภาพชีวิตแย่มากๆ ในชนบทปัญหานี้เยอะมากๆ เพราะระเบียบไม่เปิดโอกาสให้ อปท.จ้าง ทั้งๆ ที่เขามีเงินจ้างแต่ก็เสี่ยงถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)” นพ.ลักษณ์ กล่าว
นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีนักบริบาลชุมชนเข้ามาช่วย ที่ผ่านมาโรงพยาบาลก็พยายามจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดูแลผู้ป่วย แต่ก็ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ต่อเนื่อง เพราะเจ้าหน้าที่ก็มีภาระหน้าที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งแตกต่างกับนักบริบาลชุมชนที่เขาจะเป็นคนในพื้นที่ที่เข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่ดูแลเป็นหลัก เข้าไปช่วยพลิกตัว ดูแลอาหาร อาบน้ำ ฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีคีย์แมนอย่างท่านกอบศักดิ์ ฟูตระกูล เป็นสิ่งที่ดีมากๆ และตรงประเด็น
นพ.ลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากจะยกระดับคุณภาพชีวิตและนับเป็นสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้ว นโยบายการปลดล็อคนักบริบาลชุมชนยังจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน คือลูกหลานก็จะกลับมาอยู่ในชุมชนเพื่อประกอบอาชีพนี้ ครอบครัวก็จะได้กลับมารวมกันอีกครั้ง เศรษฐกิจฐานรากก็จะได้รับการขับเคลื่อน
“ผมอยากให้เกิดมานานแล้ว ทำเถอะ ดีจริงๆ ทุกวันนี้เวลาผมออกไปตามชุมชนก็จะไปแจ้งข่าวดีอันนี้ให้ประชาชนทราบ เขาก็ดีใจชอบใจกันเป็นอย่างมาก ยืนยันว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่คุ้มค่าและมีแต่ข้อดี” นพ.ลักษณ์ กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2561 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 4/2561 ซึ่งมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณา 3 นโยบายสำคัญ โดยหนึ่งในนั้นคือการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (ผู้ป่วยติดเตียง) ภายใต้โครงการท้องถิ่นทั่วไทยผู้สูงอายุมีคนดูแล
ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 2 แสนราย และมีผู้ป่วยติดบ้านที่ในอนาคตจะพัฒนามาเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกกว่า 3 แสนราย โดยรัฐบาลมองว่าผู้สูงอายุทุกคนในประเทศไทยควรจะมีคนดูแล จึงได้ร่วมกันหารือถึงการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมในการสร้างนักบริบาลทั่วประเทศไทยเข้าไปดูแลประชาชนตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ อปท.สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีระเบียบรองรับ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท
- 113 views