หัวหน้ากลุ่มศัลยกรรมกระดูก รพ.แพร่ จัดทำโครงการ “ออร์โธแพร่ร่วมใจเอื้ออาทรสู่ชุมชน” ผนึกโรงพยาบาลชุมชน ระบายคนไข้ตรวจต่อเนื่องในพื้นที่ ช่วยลดคนไข้ล้นมือได้ถึง 50%
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์
นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยโรคกระดูกเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลว่า ในอดีตมีปัญหาเรื่องคนไข้กระดูกและข้อมีจำนวนมาก เฉพาะคนไข้ของแพทย์รายเดียวมีมากถึงวันละ 200-300 คน กว่าจะตรวจครบต้องใช้เวลาตั้งแต่เช้าถึง 18.00 น. นั่นเป็นที่มาของความพยายามคลี่คลายสถานการณ์ เบื้องต้นได้เปิดคลินิกรุ่งอรุณเพื่อให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00-08.30 น. ซึ่งก็ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง
“ตรงนี้ได้รับการตอบรับจากคนไข้ค่อนข้างดี คนไข้พึงพอใจ เฉพาะช่วงเช้าเราสามารถตรวจได้ประมาณ 20-30 คน ก็ช่วยลดความแออัดของคนไข้ลงได้ ซึ่งคลินิกรุ่งอรุณได้เปิดให้บริการมา 4-5 ปีแล้ว” นพ.ลักษณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในภาพใหญ่ก็คือคนไข้ยังมีมากอยู่ โดยเฉพาะคนไข้ที่อยู่ต่างอำเภอที่บ้านห่างไกลโรงพยาบาล ปัญหาก็คือในช่วงเย็นจะไม่มีรถกลับบ้าน ดังนั้นประมาณเที่ยงวันก็จะเร่งให้แพทย์รีบตรวจ เมื่อเห็นปัญหาเช่นนี้จึงกลับไปดูข้อมูลย้อนหลัง พบว่า 1.เป็นคนไข้อยู่ต่างอำเภอจำนวนกว่า 50% 2.ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่เคยรับการรักษาและผ่าตัดไปแล้ว 3.เป็นผู้สูงอายุ
“ผมจึงมีแนวคิดว่าควรจะนำคนไข้กลุ่มนี้ไปตรวจต่อเนื่องที่โรงพยาบาลชุมชน นั่นจึงเป็นที่มากของโครงการ “ออร์โธแพร่ร่วมใจเอื้ออาทรสู่ชุมชน” หลักการคือนัดคนไข้ไปตรวจที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน โดยแพทย์จะเป็นผู้เดินทางไปตรวจเอง ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นนโยบาย มีแพทย์บางคนที่เข้าร่วม บางคนก็มีภารกิจที่เข้าร่วมไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้เดิมของแพทย์แต่ละรายไป ซึ่งจากการดำเนินการพบว่าคนไข้ลดลงกว่า 50%” นพ.ลักษณ์ กล่าว
นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นแนวคิดของตัวเอง แต่ขณะนี้เริ่มมีแพทย์ที่เห็นด้วยและขยายความร่วมมือออกไปสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น แตกต่างกันออกไปหลากหลายรูปแบบ เช่น แพทย์อาจนัดคนไข้ไปผ่าที่โรงพยาบาลชุมชน หรือแพทย์นัดคนไข้ส่องนิ่วไปส่องที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีหลายโครงการมาก โดยทั้งหมดช่วยลดความแออัดให้โรงพยาบาล แพทย์ไม่เครียดไม่กดดัน และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วย
นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ดำเนินโครงการได้สำเร็จเนื่องจาก จ.แพร่ มีระยะทางระหว่างอำเภออยู่ราวๆ 60-70 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถเดินทางได้ ถนนดี ภูมิประเทศไม่เป็นภูเขา ขณะเดียวกันต้องเริ่มจากความเข้าใจของแพทย์ที่พร้อมจะเป็นผู้เดินทางออกไปหาคนไข้ คือแพทย์ต้องเห็นความสำคัญที่จะให้คนไข้เป็นศูนย์กลาง ส่วนตัวคิดว่าโรงพยาบาลอื่นสามารถดำเนินการได้ด้วยการปรับเปลี่ยนให้ตรงตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ด้วยการประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนเพื่อไปใช้ทรัพยากรที่นั่น
“โรงพยาบาลชุมชนเขายินดีอยู่แล้ว ประสานไม่ยากเลย เช่นที่ผมทำด้วยกันอยู่ทางโรงพยาบาลชุมชนก็อยากมีคลินิกกระดูกอยู่แล้ว มันวิน-วินทุกฝ่าย ฉะนั้นมันสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะคลินิกกระดูกอย่างเดียว คือใครพร้อมแบบไหนก็ขยับก่อนได้เลย ผมคิดว่าถ้าเอาคนไข้เป็นศูนย์กลางก็จะจบทุกอย่าง” นพ.ลักษณ์ กล่าว
ขอบคุณภาพจาก Facebook นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์
- 842 views