ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรงของ จิราวรรณ ลีลาพัฒนาพาณิชย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลอุดรธานี พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้ป่วยยินยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ในแง่หนึ่งคือความเคยชินที่ฝังรากลงลึกมาอย่างยาวนาน อีกแง่หนึ่งคือความตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมที่สร้างปัญหาสุขภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร
ตลอดระยะเวลาการทำงานในฐานะพยาบาลวิชาชีพ "จิราวรรณ" ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยหลากรูปแบบ-หลายพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตนั้น จิราวรรณพบว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเขาเหล่านั้นให้ได้ผล จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ
หนึ่งคือทักษะการสนนทนาโน้มน้าวจูงใจ อีกหนึ่งคือ "ข้อมูลเชิงประจักษ์" สามารถอธิบายภาพอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ที่ผู้ป่วยจะต้องเผชิญหน้า
ผลึกคิดข้างต้น นำมาซึ่งการคิดค้นนวัตกรรมด้านสุขภาพซึ่งเป็นคุณูปการต่อวงการสาธารณสุข นั่นก็คือ "กราฟพยากรณ์ไต" ซึ่งคว้ารางวัลประกวดงานวิจัยลำดับที่ 2 จากเวทีการประชุมวิชาการ Non Communicable Disease Forum 'ร่วมกันดูแลไต เชื่อมโยงไทย ดูแลโรคเรื้อรัง' 2016 ให้กับโรงพยาบาลอุดรธานี เขต 8
จิราวรรณ ลีลาพัฒนาพาณิชย์ (ซ้าย)
สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว ถูกคิดค้นขึ้นโดย "จิราวรรณ" และสมาชิกในทีมอีก 2 คน คือ "อรุณี พันธุ์โอภาส" พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และ "ณัฐชรัตน์ ณภัทรธัญธนากุล" นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โดยพุ่งเป้าเล็งผลเลิศใน 2 ประการ ได้แก่
1.เพิ่มการรับรู้และสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตเรื้อรัง
2.ผู้ให้บริการได้สื่อการสอนที่ใช้ง่าย
เพื่อให้เห็นภาพนวัตกรรมดังกล่าวชัดแจ้งขึ้น สำนักข่าว Hfocus จึงพูดคุยกับ "จิราวรรณ" ภายหลังได้รับรางวัลจากเวทีการประชุม NCD Forum 2016 เมื่อเดือน ก.ย.2559
# กราฟพยากรณ์ไตคืออะไร #
กราฟพยากรณ์ไตเป็นสื่อการสอน เพราะโดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยในระยะแรกๆ มักจะไม่แสดงอาการ แต่จะเริ่มแสดงอาการในระยะท้ายๆ คือระยะ 4 และ 5 นั่นทำให้เป็นปัญหาต่อการรักษา ฉะนั้นว่ากันตามหลักแล้วผู้ป่วยก็ควรจะรู้อาการตั้งแต่ระยะต้นๆ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการวิเคราะห์หรือประเมินข้อมูลที่ชัดเจน เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไตไม่มีทางทราบได้เลยว่าตัวเองเริ่มป่วยในระยะต้นๆ แล้ว
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ แม้บางรายจะเริ่มเป็นในระยะต้นๆ แต่กลับพบว่าศักยภาพของไตลดลงด้วยความรวดเร็วอย่างรุงแรง คือโดยปกติแล้วแต่ละปีค่าของไตจะต้องลดลงไม่เกินกว่า 4 แต่บางคนภายในปีเดียวลดลงเป็น 10 ซึ่งแน่นอนว่าเขาเหล่านั้นก็จะไม่มีอาการ เพราะยังถือว่าเป็นป่วยในระยะต้นๆ เหมือนกัน แต่สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าเขามีแนวโน้มที่จะไตวายเร็วกว่าคนทั่วไป
นั่นจึงเป็นที่มาของการคิดค้นกราฟพยากรณ์ไตขึ้น เพื่อพยากรณ์ให้ผู้ป่วยทราบว่าในปีที่ผ่านมาค่าไตของเขาลดลงกี่ % โดยเราจะใช้กราฟนี้กับผู้ที่มีค่าไตลดลงเกิน 4 ทุกราย นั่นเพราะส่วนใหญ่การชะลอไตเสื่อมจะอยู่ที่การปฏิบัติตัวมากกว่าการรักษา จึงจำเป็นต้องให้เขารู้ว่าที่ผ่านมาเขาเป็นอย่างไร เช่น ทำให้เขาดูเลยว่าปีที่แล้วกับปีที่ผ่านมา ไตเขาลดลงกี่ % และค่าเช่นนี้ผิดปกติหรือไม่ เมื่อเขารู้ว่าไตเขาลดลงมากกว่าคนทั่วไป เขาก็จะซักถามถึงวิธีปฏิบัติตัว
ฉะนั้น คำว่าพยากรณ์ก็คือการดูค่าในอดีตของเขาเพื่อทำนายไปข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ปีที่ผ่านมาค่าไตลด 10 เราก็สามารถพยากรณ์ได้ว่าปีต่อๆ ไปก็มีแนวโน้มที่จะลดลงอีก 10 เช่นเดียวกัน
# อะไรทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าถึงเวลาต้องมีกราฟพยากรณ์ไตแล้ว #
ที่ผ่านมาการอธิบายความแก่ผู้ป่วยจะสามารถอธิบายจากข้อมูลการตรวจเป็นครั้งๆ แต่จะไม่มีการอธิบายย้อนหลังหรือไปข้างหน้า โดยก่อนหน้านี้เราก็จะเทียบเคียงค่าไตกับเงิน 100 บาท คือบอกว่าปกติเราแต่ละคนมีเงิน 100 บาท คือค่าไตทำงานครบ 100% ถ้าไตลดลงเหลือเท่านั้นเท่านี้จะเป็นอย่างไร แล้วก็เปรียบเทียบให้เห็นว่าเป็นระยะที่เท่าไร
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่เราอธิบายเช่นนี้ มีหลายรายที่ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ส่งผลให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว จึงลองคิดค้นกราฟพยากรณ์ไตขึ้นมา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโมเดลการอธิบายด้วยเงินบาท คือก่อนหน้านี้มีผู้คิดค้นเรื่อง “เงิน 100 บาท รู้ค่าไต” ซึ่งตอนนั้นเราก็ชอบเหมือนกัน เพราะคนทุกคนจะรู้จักเลข 100 แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือมา แต่สื่อการสอนเรื่องการเปรียบเทียบเงินก็ใช้มาอย่างยาวนาน เรารู้สึกว่าคนไข้เริ่มไม่กระตือรือร้น และเราก็เริ่มเซ็งๆ ในการสอนด้วย เพราะเขาก็ไม่ตระหนักสักเท่าไร เลยคิดว่าน่าจะต้องมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา
เมื่อนำกราฟพยากรณ์ไตมาใช้ สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือผู้ป่วยตระหนักมากขึ้นกว่าที่ใช้วิธีสอนแบบในอดีต คือมีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตัวเพื่อชะลอความเสื่อมของไตมากขึ้น เราสามารถวัดผลได้ทันทีจากปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะถามเลยว่าจะต้องทำยังไง ต้องปฏิบัติตัวแบบไหน ต้องรับประทานอาหารแบบไหน ซึ่งเราก็ต้องบอกเขาว่าใจเย็นๆ ก่อน เรายังไม่รู้จักกันเลย ค่อยๆ คุยกันก่อน ถามข้อมูลเขาก่อน เพราะมีหลายอย่างที่เขาทำดีแล้ว ไม่ใช่ต้องปรับทั้งหมด แต่มันจะมีจุดอยู่ที่ทำให้ไตเสื่อมไว
ที่สำคัญก็คือ สื่อการสอนนี้ทำให้ญาติของผู้ป่วยสนใจมาก เพราะนอกจากจะใช้กับผู้ป่วยแล้ว เรายังนำมาใช้กับคนปกติได้ด้วย และภายในกราฟก็จะมีการใช้สีเข้ามาช่วย เมื่อทดลองใช้กับผู้สูงอายุมากๆ คือ 70-80 ปี แม้ว่าเขาไม่รู้หนังสือแต่ก็เข้าใจในสิ่งที่เราอธิบาย
รูปแบบของกราฟพยากรณ์ไตเป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร
ก็เป็นการสร้างตารางกราฟขึ้นมา จากนั้นเราก็เอาค่าไตของผู้ป่วยมาจุดลงไปในกราฟ โดยปกติผู้ป่วยเบาหวานและความดันจะต้องตรวจเลือดทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งผลเลือดก็นำมาคำนวณได้ว่าค่าของไตของผู้ป่วยแต่ละรายทำงานได้กี่ % เมื่อเทียบเคียงข้อมูลปีที่ผ่านมาก็สามารถพยากรณ์ไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นผู้ที่จะใช้กราฟพยากรณ์ไตจำเป็นต้องมีสถิติค่าไตอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งกราฟนี้ทำงานด้วยการใช้โมเดลคณิตศาสตร์บวกลบคูณหารธรรมดาๆ
ปกติแล้วเวลาเราสอนหรือแนะนำให้ข้อมูลผู้ป่วยก็จะดูเฉพาะค่าไตครั้งนั้นๆ แต่ไม่ได้ดูอดีตที่ผ่านมา ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่เราจะดูย้อนอดีตด้วย หากพบว่าอัตราการลดของไตไม่เหมือนคนทั่วไป ก็แสดงว่าในปีที่ผ่านมาต้องมีอะไรผิดปกติ
นั่นก็จะนำไปสู่การซักประวัติที่ละเอียดว่ามีอะไรหรือพฤติกรรมใดที่ทำให้ค่าไตลดลงเร็วขนาดนั้น ซึ่งจะทำให้เราทราบปัญหาที่ชัดเจน นำไปสู่การให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ได้ และโดยส่วนใหญ่จะหาสาเหตุเจอแทบทั้งสิ้น
สามารถใช้กราฟพยากรณ์ไตกับผู้ป่วยกลุ่มไหนได้บ้าง
จริงๆ แล้วใช้ได้กับทุกคน ทั้งคนป่วยและคนที่ไม่ป่วย แต่ขณะนี้ทางโรงพยาบาลจะใช้กับคนไข้ที่ได้รับการตรวจเลือดทุกปี นั่นก็คือคนไข้เบาหวาน-ความดัน เป็นหลัก รวมถึงข้าราชการที่มีสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพทุกปี ซึ่งทำให้เราพบว่าในกลุ่มของข้าราชการจำนวนมากมีปัญหาไตเสื่อมแล้ว นั่นเพราะอย่างที่บอกว่าการเสื่อมของไตจะไม่แสดงอาการออกมาให้เรารู้จนกว่าจะเข้าระยะหลังๆ
คิดค้นนวัตกรรมชนิดนี้ได้เมื่อใด
เพิ่งคิดค้นได้เมื่อเดือน ก.ค.2559 หรือประมาณ 7 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำได้รวดเร็วเพราะพอลองทำแล้วทดลองใช้รวดเดียวก็พบว่าค่อนข้างเวิร์ค เพราะจากคนไข้ที่ไม่เคยได้รับข้อมูลเช่นนี้มาก่อน กลับเริ่มตระหนักตั้งแต่ระยะต้นๆ เพราะเขาจะทราบข้อมูลค่าไตที่ลดลงตั้งแต่ระยะต้นๆ และเราก็จะรีบหาสาเหตุให้ตั้งแต่ระยะต้นๆ เช่นกัน ที่สำคัญก็คือเมื่อสัมภาษณ์เชิงลึกแล้วเราสามารถหาสาเหตุเจอทุกราย และสามารถแก้ได้ตรงประเด็นในทุกๆ ราย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสาเหตุที่เกิดจากการปฏิบัติตัวแทบทั้งสิ้น
หมายความว่ากราฟเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่การค้นหาสาเหตุมาจากการสัมภาษณ์เชิงลึก
ใช่ค่ะ ฉะนั้นผู้ที่นำกราฟพยากรณ์ไตไปใช้ก็จำเป็นต้องมีทักษะในการให้คำปรึกษาด้วย เพราะบางทีเพียงแจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยเฉยๆ ผู้ป่วยก็จะกลัวมากจนไม่ปฏิบัติตัวหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผู้ป่วยบางรายก็จะเฉื่อยชาไปเลย คือก็แย่แล้วก็เลยปล่อยไป ดังนั้นผู้ที่นำกราฟไปใช้จำเป็นต้องมีทักษะเพิ่ม คือไม่ใช่เพียงบอกให้เขารู้เท่านั้น แต่ต้องบอกสาเหตุเพื่อช่วยเขา และเสนอแนะหนทางในการแก้ปัญหา
ผู้ที่นำกราฟพยากรณ์ไตไปใช้ จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะอย่างไรบ้าง
อย่างน้อยก็ควรมีทักษะในการสนทนาสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม ตรงนี้จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วอะไรเป็นหัวใจเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็น่าจะผสมกันทั้งกราฟพยากรณ์และทักษะการอธิบาย เพราะอยู่เฉยๆ จะไปจูงใจโดยที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ตอนที่นำเสนอนวัตกรรมนี้ในเวที NCD FORUM อาจารย์ก็ถามว่าอะไรสำคัญกว่ากัน เราก็ตอบไปว่าเท่าๆ กัน
นั่นเพราะหากมีเพียงทักษะใดทักษะหนึ่ง คือมีเฉพาะข้อมูลหรือมีเฉพาะการสนทนาสร้างแรงจูงใจ ก็ไม่อาจทำให้คนไข้เห็นความสำคัญหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
นอกเหนือจากข้อมูลและทักษะจูงใจ ยังมีองค์ประกอบความสำเร็จอื่นอีกหรือไม่
ต้องมีการติดตาม เพราะการที่จะทำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างต่อเนื่องนั้นจำเป็นต้องมีกำลังใจ เจ้าหน้าที่ต้องติดตามจากญาติ จากผู้ป่วย ที่สำคัญคือเวลาผู้ป่วยมาตรวจแต่ละครั้งเราจำเป็นต้องได้พูดคุยกับเขา นิดหน่อยๆ ก็ยังดี อย่างตัวเองก็จะบอกกับผู้ป่วยทุกรายว่าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาลให้แวะมาหาที่ห้องด้วย เราก็จะมีประเด็นที่เราได้เพิ่ม เพราะจากสถิติโดยส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่ติดตามจะได้แค่ 3 เดือน คือหลังจากนั้นมักจะมีอะไรเกิดขึ้นจนทำให้พฤติกรรมของเขาถดถอยลง
วางอนาคตให้กับนวัตกรรมนี้อย่างไร จะกระจายไปสู่หน่วยบริการอื่นๆ ได้หรือไม่
ขณะนี้ได้ไปจดลิขสิทธิ์แล้ว และก็มีผู้ที่สนใจเข้ามาขอไปใช้เยอะ มีโรงพยาบาลหลายแห่งทำหนังสือมาขอใช้แล้ว เช่น จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา ฯลฯ ซึ่งผู้ที่สนใจก็สามารถทำหนังสือมาถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานีได้เลย
ความสำเร็จจากนวัตกรรม และรางวัลที่ได้รับ
ได้รับรางวัลจากเวที NCD Forum ส่วนเวทีวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่ได้ไป เพราะขณะนั้นยังทำไม่ทัน แต่คิดว่าในปีนี้ก็จะส่งประกวดเวที สธ.ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นวัตกรรมกราฟพยากรณ์ไตได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 8 ผลงานนวัตกรรมที่ได้นำเสนอด้วยวาจาและโปสเตอร์ในงาน NCD Forum 2016 ระหว่างวันที่ 12 -13 ก.ย.2559 จากผลงานที่ส่งประกวดทั่วประเทศกว่า 90 ผลงาน โดยนวัตกรรมนี้ยังได้รับคัดเลือกให้นำเสนอด้วยโปสเตอร์ในงาน HA Forum 2017 วันที่ 14 -17 มี.ค.2560
นวัตกรรมกราฟพยากรณ์ไตได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ ประเภทวรรณกรรมลักษณะงานสิ่งพิมพ์สื่อการสอนเพื่อสาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2559 และมีหน่วยบริการทั่วประเทศมากกว่า 10 แห่งทำหนังสือขอนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในหน่วยบริการของตนเอง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม "น.ส.จิราวรรณ ลีลาพัฒนาพาณิชย์" ศูนย์เบาหวานความดัน โรงพยาบาลอุดรธานี หมายเลข 0-4234-8911 อีเมล birdleela@hotmail.com
- 780 views