“หมอพงษ์ศักดิ์” ตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่น ในคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานหลักประกันสุขภาพ กทม.เผย สปสช.เขต 13 กทม.เรียกประชุมคลินิกชุมชนอบอุ่นด่วน 25 ม.ค.นี้ แก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระค่าส่งต่อปีงบประมาณ 2560 โดยยอดปี 59 มีจำนวนถึง 81 ล้านบาท เกิดจากค่าส่งต่อผู้ป่วยรักษา รพ.รับส่งต่อมีแนวโน้มเพิ่ม เหตุ รพ.รัฐ ปิดรับลงทะเบียนบัตรทอง ผู้ป่วย ตจว.ขอขึ้นทะเบียนคลินิกฯ เพื่อส่งต่อแทน แนะ สปสช.แก้ปัญหา นำงบเหลือจากส่งเสริมสุขภาพและหมวดอื่นๆชำระหนี้แทน ก่อนกระทบการดำเนินงานคลินิกฯ และบริการผู้ป่วยที่ไม่ได้ส่งต่อ
นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่น ในคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานหลักประกันสุขภาพ กทม. เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2559 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม.ได้เชิญตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่นเข้าร่วมประชุม “ปัญหาค่าส่งต่อและการรับสภาพหนี้ค้างชำระของคลินิกชุมชนอบอุ่น” ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาหนี้ค้างชำระผู้ป่วยส่งต่อในคลินิกชุมชนอบอุ่นกำลังเป็นปัญหาอย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุเกิดจากก่อนหน้านี้ในช่วง 5 ปีที่แล้ว รพ.รัฐที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วย ได้ปิดรับขึ้นทะเบียนผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะจากต่างจังหวัดที่ต้องการเข้ารับการรักษายัง รพ.เหล่านี้ จึงย้ายมาขึ้นทะเบียนที่คลินิกชุมชนอบอุ่นแทน เพื่อให้คลินิกทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายอยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ที่กลายเป็นภาระคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ต้องแบกรับ เพื่อให้การบริการมีคุณภาพและมาตราฐาน
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่าในปีนี้ สปสช.จะได้จัดสรรงบผู้ป่วยนอกให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยในงบดังกล่าวได้รวมค่าใช้จ่ายส่งต่อผู้ป่วยด้วย พร้อมกับแต่เดิมมีการกันงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อเป็นกองทุนกลางในการตามจ่าย กรณีที่ค่าใช้จ่ายในการรักษามีจำนวนเกินเพดานที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะตามจ่าย อาทิ รพ.เรียกเก็บค่ารักษา 1,700 บาท คลินิกมีเพดานจ่ายเพียง 1,600 บาท ส่วนที่เหลือ 100 บาท จะใช้เงินกองทุนที่ได้หักไว้ที่ส่วนกลางมาจ่ายเพิ่มเติม โดยทั้งหมดนี้ สปสช.จะทำหน้าที่เป็นเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ซึ่งด้วยจำนวนผู้ป่วยส่งต่อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคค่าใช้จ่ายสูง ทำให้งบประมาณที่คลินิกชุมชนอบอุ่นได้รับนั้นไม่สามารถตัดหนี้ส่งต่อที่มีอยู่นี้ได้หมด ซึ่งคลินิกชุมชนอบอุ่นบางแห่งมีค่าส่งต่อสูงถึง 3-4 แสนบาทต่อเดือน ขณะที่งบประมาณที่ได้รับอยู่ประมาณ 900 กว่าบาทต่อปี โดยคลินิกชุมชนอบอุ่นไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ป่วยส่งต่อเท่านั้น แต่ยังมีบริการผู้ป่วยนอกอื่นๆ ด้วย ส่งผลให้งบประมาณไม่เพียงพอ
ขณะที่กองทุนกลางที่ สปสช.ได้หักจากคลินิกฯ เพื่อนำมาจ่ายเพิ่มเติมกรณีเกินพดานนั้น เริ่มแรก สปสช.ได้หักเพียงไม่ถึง 100 บาทต่อประชากรเท่านั้น แต่ปัจจุบันถูกหัก 160 บาทต่อประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
“คลินิกเป็นหนี้ รพ.จากการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทอง สปสช.มีหน้าที่หักงบบัตรทองของคลินิกเพื่อใช้หนี้ ทำให้งบบัตรทองที่ส่งมายังคลินิกถูกลดลง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมา สปสช.เองก็ไม่สามารถหักเงินคลินิกฯ ทั้งหมดได้ เพราะต้องให้คลินิกดำเนินการอยู่ได้เช่นกัน ส่งผลให้เกิดหนี้ชำระค้างตรงนี้จะทำอย่างไร ทั้งยังมีแนวโน้มของปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหลายโรคที่ผู้ป่วยเดินเข้ามาเกินศักยภาพคลินิกในการรักษา อาทิ การตรวจ CT, การตรวจ MRI, การทำแมมโมแกรม การผ่าตัดแบบไปกลับวันเดียว เป็นต้น อีกทั้งหากคลินิกไม่ส่งต่อ ผลกระทบก็จะเกิดกับผู้ป่วยอีก ดังนั้นในวันที่ 25 ม.ค.นี้ สปสช.เขต 13 กทม.จึงมีการเชิญตัวแทนคลินิกเครือข่ายใน กทม.เข้าร่วมประชุม”
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายน 2559 ซึ่งเป็นปลายปีงบประมาณ สปสช.ได้ประกาศหนี้ของคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งภาพรวม กทม.ทั้งหมดมีหนี้ค่าชำระจำนวน 81 ล้านบาท โดย สปสช.เขต 13 กทม.แก้ไขปัญหาโดยนำงบปี 2560 มาจ่ายหนี้ค้างชำระก่อน โดยหักจากเงินจ่ายล่วงหน้า ซึ่งการแก้ไขปัญหาโดยวิธีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้งบประมาณที่คลินิกชุมชนอบอุ่นควรได้รับถูกลดลงอีก ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหา สปสช.ต้องนำงบสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เรียกว่า งบ PP ซึ่งใช้ไม่หมดในทุกๆ ปี บางปีเหลือ 100-200 ล้านบาท และงบอื่นๆ ที่เหลือในปี 2560 มาชำระหนี้ค่าส่งต่อ แทนที่จะส่งกลับไปยังส่วนกลาง เรื่องนี้ต้องดำเนินการโดย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องกระจายอำนาจให้พื้นที่เพื่อบูรณาการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ผ่านคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 หรือ อปสข. เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน และหากจะมองว่าเป็นการจัดงบคนละส่วนคงไม่ได้ เพราะต่างเป็นเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีเป้าหมายเพื่อดูแลประชาชนเช่นเดียวกัน
- 45 views