ตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่นห่วงตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม.ล่าช้าไม่รู้ติดขัดตรงไหน ย้ำอยากให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ แนะหาก กทม.ติดขัดกฎระเบียบอาจใช้วิธีตั้งกองทุนโดยให้ สปสช.จ่ายสมทบฝ่ายเดียวก่อน อย่างน้อยก็ไม่ต้องส่งเงินคืนส่วนกลางและระดับพื้นที่มีงบมาทำงานได้
นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ผู้แทนคลินิกชุมชนอบอุ่นในคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช.กทม.) เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกประกาศ สปสช.เพื่อจัดตั้งกองทุนสุขภาพในระดับท้องถิ่น ตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากประกาศฉบับนี้มีการพูดคุยกันระหว่าง สปสช.และ กทม.มานาน 6 เดือนแล้วแต่ก็ยังจัดทำไม่เสร็จ ซึ่งในมุมของคนทำงานในระดับปฐมภูมิอยากให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2560 เพราะจะเป็นประโยชน์กับการทำงานพัฒนาชุมชนอย่างมาก ขณะที่ตัวแทนชุมชนต่างๆอาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ต่างก็มีความประสงค์ในการเข้าร่วมพัฒนาการสาธารณสุข
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า แต่เดิม สปสช.ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนระดับท้องถิ่นและการจ่ายสมทบระหว่าง สปสช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับบริบทของ กทม. เนื่องจาก กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่มาก มีประชากรในพื้นที่หลายล้านคน และโครงสร้างการบริหารก็มี 2 ระดับคือในระดับเขตและระดับ กทม. ต่างจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีโครงสร้างใหญ่สุดคือคณะกรรมการบริการ อบต. ดังนั้นหากใช้ประกาศ สปสช.ฉบับนี้ เรื่องทุกเรื่อง โครงการทุกโครงการก็จะต้องวิ่งมาที่ผู้ว่าราชการ กทม.หมด ซึ่งทำให้ล่าช้าในการดำเนินการ
“สปสช.และ กทม.ก็พยายามเชื่อมประสานเพื่อจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการหารือครั้งล่าสุด กทม.ก็ตกลงในการจัดตั้งกองทุน มีการนำเรื่องเสนอสภา กทม.ให้ความเห็นชอบ และกันงบประมาณไว้สำหรับการจ่ายสมทบแล้ว ขั้นต่อไปคือต้องทำให้เกิดประกาศ สปสช.อีกฉบับสำหรับพื้นที่ กทม. โดยมีการตั้งคณะทำงานมาพิจารณาร่วมกันว่าจะออกประกาศในลักษณะไหน โครงสร้างที่จะอนุมัติโครงการจะอยู่ในระดับไหน แต่คุยกันมา 6 เดือนก็ยังไม่แล้วเสร็จ ทางผมซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิก็มีความห่วงใยว่าทำไมถึงล่าช้า มันติดขัดที่ตรงไหน ถ้าติดขัดที่กฎระเบียบว่าทำไม่ได้ ก็จะได้ทราบว่า กทม.อาจต้องแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างหรือ สปสช.อาจต้องเปลี่ยนแนวทางการบริหารกองทุนหรือไม่” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า หาก กทม.ติดขัดในเรื่องกฎระเบียบบางประการ ตนเสนอว่าอาจใช้วิธีการตั้งกองทุนโดยมีโครงสร้างของ สปสช.เป็นผู้อนุมัติงบประมาณเพียงฝ่ายเดียว โดย กทม.ยังไม่ต้องจ่ายสมทบในปีนี้ แต่ออกระเบียบให้จ่ายในปีถัดไปแทน หรืออาจให้ กทม.ส่งเงินสมทบมาที่ สปสช. โดยใช้โครงสร้าง สปสช.เป็นหลักในการพิจารณาอนุมัติโครงการ แต่มีตัวแทนของ กทม.เข้าร่วมด้วย วิธีการลักษณะนี้อย่างน้อยเมื่อจัดตั้งกองทุนขึ้นมาได้ เงินสมทบที่ สปสช.ส่งมาที่ สปสช. เขต 13 กทม.แต่ละปีก็สามารถนำมาทำงานได้ ไม่ต้องส่งคืนส่วนกลางแบบทุกปี ขณะเดียวกันก็จะสามารถใช้เพียงโครงสร้างระดับเขตในการพิจารณาโครงการต่างๆ ได้
“ถ้ามีงบประมาณในส่วนนี้ลงมาก็จะดีกว่าทำงานแบบขาดแคลนงบ เพราะปกติงบในส่วนของการรักษาพยาบาลก็น้อยอยู่แล้ว ถ้าในส่วนของการส่งเสริมป้องกันก็ไม่มีอีก ก็จะขาดแคลนทั้งงานป้องกันและรักษา แล้วหลักประกันสุขภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
- 6 views