ความสำเร็จในการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งได้พิสูจน์ให้นานาชาติเห็นแล้วว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรในระดับปานกลางสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชากรได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2545 ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากร
ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 3 มิติ ได้แก่
1. ความครอบคลุมประชากรของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันจำนวนประชากรร้อยละ 99.99 ของประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพและสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่อสุขภาพได้
2.สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งการรักษาพยาบาลที่มีราคาแพงจำนวนมาก
3.การปกป้องครัวเรือนจากการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล
นอกจากนี้ หลักฐานเชิงประจักษ์ได้แสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ที่สำคัญของการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือการทำให้คนยากจนที่อยู่ในเมืองและชนบทรวมทั้งประชาชนที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิเคราะห์ด้านสิทธิประโยชน์ที่พบว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้นเป็นการดำเนินงานเพื่อให้คนยากจนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น และทรัพยากรของภาครัฐกระจายไปสู่ประชากรที่ยากจนเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ดังกล่าวคือ
1.การมีระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศจนถึงระดับชุมชนและหมู่บ้าน จากการที่รัฐบาลได้ลงทุนด้านโครงสร้างและกำลังคนด้านสุขภาพในสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม
2.การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกด้านโดยไม่ต้องมีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ซึ่งทำให้ลดรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน ลดภาวะการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและป้องกันครัวเรือนไม่ให้ประสบภาวะความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล
บัตรทองซึ่งเป็นหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 75 ของประชากรทั่วประเทศมีชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทุกด้าน สามารถดำเนินงานตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากใช้วิธีการบริหารงบประมาณแบบปลายปิดและจ่ายค่าบริการโดยวิธีผสมผสาน คือใช้อัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับกรณีผู้ป่วยนอก และจ่ายเงินชดเชยให้กับสถานพยาบาลตามค่า DRG สำหรับกรณีผู้ป่วยในและค่ารักษาที่ราคาแพง ซึ่งวิธีนี้ มีประสิทธิผลในการควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปมีความพึงพอใจต่อการให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 82 - 95 จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2546-2556
ข้อพึงทราบคือ ผู้ให้บริการสุขภาพส่วนใหญ่ที่ดำเนินงานภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสถานพยาบาลที่ไม่หวังผลกำไรและโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพหลักของประเทศ บุคลากรสาธารณสุขผู้เสียสละทำงานในโรงพยาบาลของรัฐเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังกล่าว
จากความสำเร็จด้านผลลัพธ์สุขภาพ โดยเฉพาะปัจจุบันประชาชนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 74 ปี อัตราตายของเด็ก 12.3 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศคิดเป็น ร้อยละ 4.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นับว่าระบบสุขภาพของไทยมีประสิทธิภาพและถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีระบบสุขภาพที่ดีที่สุด ดังนั้น ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์จากการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยเฉพาะการลดภาวะความยากจนจากการล้มละลายจากรายจ่ายด้านสุขภาพและการส่งเสริมให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) จึงควรให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ไทยยังได้สร้างเสริมศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินความคุ้มค่าของการรักษาพยาบาลและยาใหม่ก่อนที่จะบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์หรือบัญชียาหลักแห่งชาติ – รายการบัญชียาที่ใช้อ้างอิงในการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพของรัฐซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้มีการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีเพื่อได้มาซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ในการบรรจุบริการสุขภาพและเวชภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในชุดสิทธิประโยชน์
ความท้าทายต่างๆ ได้แก่ อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้ใหญ่ค่อนข้างสูง ผู้ชายอยู่ที่ระดับ 207 และผู้หญิงอยู่ที่ระดับ 105 ต่อประชากรพันคน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร มะเร็ง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านทางระบาดวิทยาและความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร นอกจากนี้ ระบบสุขภาพจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับอนาคตผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เข้มแข็งเพื่อบรรลุเป้าหมายสถานะทางสุขภาพที่ดีขึ้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับนานาประเทศในหลายด้าน เช่น ยุทธศาสตร์การจัดซื้อและการจ่ายค่าบริการสุขภาพ การติดตามและตรวจสอบคุณภาพ การให้บริการทางการแพทย์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเข้มแข็งของระบบบริการปฐมภูมิ การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพ การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล
ไทยยังได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมด้านการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับการจัดทำนโยบาย และได้จัดคู่มือสำหรับผู้ดำเนินงานและปฏิบัติการ ประสบการณ์จริงของไทยในด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและด้านที่เกี่ยวข้องได้ถูกถ่ายทอดให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานตามศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข โครงการ CapUHC และโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น เป็นผู้จัดทำโปรแกรมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (รวมญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และจีน) ได้ริเริ่มการสร้างเครือข่ายหลักประกันสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 และได้จัดตั้งเครือข่ายดังกล่าวในปี พ.ศ. 2557
จากการที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน 3.8 ในการบรรลุการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แสดงให้เห็นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความก้าวหน้าไปไกลกว่าการสนับสนุนทางการเมืองเพียงจากภายในประเทศเท่านั้นแล้ว เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการนำปฏิญญาทางการเมืองมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง หลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ความร่วมมือระหว่างประเทศแบบใต้- ใต้ เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรในการออกแบบและดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการบรรลุผลลัพธ์อันพึงประสงค์
หมายเหตุ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เขียนบทความ “ประเทศไทยกับการเป็นผู้นำในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (Thailand: At the forefront of Universal Health Coverage) ทางเว็บไซต์ https://medium.com ในโอกาสได้รับเกียรติรับเชิญเป็น “แชมเปี้ยนการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ประจำปี ค.ศ. 2016 (UHC Day champion 2016) ร่วมกับผู้นำด้านสุขภาพของประเทศอื่นๆ และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยได้นำคณะผู้แทนไทย ร่วมการประชุมและพิธีฉลอง“วันประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 12 – 13 ธันวาคม 2559 และมีพิธีฉลองคู่ขนาน ณ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นจริงตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030
ผู้เขียน : นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- 14 views