รมว.สธ.ปาฐกถาพิเศษงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ระบุ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เรื่องสุขภาพ-สาธารณสุข เผย สธ.ผุดแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เชื่อ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาสามารถฟันฝ่าเรื่องยากให้ลุล่วงด้วยดี
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพและสุขภาวะที่ยั่งยืน : มุมมองและบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข” ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559
รมว.สธ. ระบุว่า เมื่อกล่าวถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องไม่เฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น โดยความพอเพียงในที่นี้หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ซึ่งในด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และเรื่องของสุขภาพนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
คำปาฐกถาพิเศษ ระบุอีกว่า ปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ต้องคำนึงถึง หรือระดับสากลรู้จักกันว่าปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ หรือ Social Determinants of Health (SDH) ทำให้การกำหนดนโยบายหรือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขต่างๆ ต้องมีมุมมองและให้ความสำคัญกับเรื่อง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” หรือ Health in All Policies โดยมีการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาคีด้านสาธารณสุข และจำเป็นต้องก้าวเดินเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายอย่างเหมาะสม มีหลักการเหตุผล มีการเตรียมพร้อม เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือกับทุกเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งรายบุคคลไปจนถึงระบบสาธารณสุข และระบบสุขภาพต่อประเทศ ซึ่งได้มีการระบุไว้ชัดเจนในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 2
สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 โดยจะเป็นแผนที่ใช้เชื่อมต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในด้านสุขภาพ ให้สามารถนำสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมายการพัฒนาด้านสุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป โดยแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ ได้นำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่2 มาพิจารณาถึงความสอดคล้องกันด้วย
ทั้งนี้ ในนามของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นปีแรก ขอบคุณคณะกรรมการการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ องค์กรเจ้าภาพร่วมจัด ที่ได้ร่วมมือกันจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 นี้ รวมทั้งสมัชชาสุขภาพจากทุกกลุ่มเครือข่าย ทั้งภาคีจากพื้นที่ ภาครัฐ วิชาการ วิชาชีพ ประชาสังคม เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง จนหลายประเด็นประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน
สำหรับประเด็นที่ยังไม่เกิดผลหรืออยู่ระหว่างดำเนินการขับเคลื่อนนั้น ก็ขอให้รวมพลังกันผลักดัน ส่วนตัวเชื่อว่าพลังของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของพวกเราจะทำเรื่องที่ยากให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะเป็นเวทีที่เอื้อให้เกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสมานฉันท์ของทุกภาคส่วน เพื่อนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่ดีเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 จะสอดประสานไปด้วยกันอย่างมีพลังและเอื้อให้เกิดการทำงานโดยทุกภาคส่วน ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในด้านสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพไทย
อนึ่ง นพ.ปิยะสกล มีกำหนดเดินทางไปปาฐกถาพิเศษในวันที่ 23ธ.ค.2559 ซึ่งเป็นวันจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติวันสุดท้าย แต่เนื่องจากติดภารกิจเร่งด่วนจึงไม่สามารถมาร่วมงานได้ อย่างไรก็ตาม นพ.ปิยะสกล ได้ส่งบทปาฐกถาพิเศษมาเผยแพร่แก่ผู้เข้าร่วมประชุมให้ได้รับทราบโดยพร้อมเพรียง
- 382 views