หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ทำได้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559  ส่งผลต่อการเปิดให้จ้างแรงงานเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติในตำแหน่ง “ผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา”ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิอาศัยและทำงานชั่วคราว โดยแรงงานฯกลุ่มนี้ถือเอกสาร“บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคล”

มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้แต่ละประเทศมีอธิปไตยกำหนดผู้ที่จะเข้ามาในเขตแดนและกำหนดตลาดแรงงานของตน โดยเฉพาะการกำหนดอาชีพที่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำได้ ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี2547 เป็นต้นมาอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้เพียงงานกรรมกรและงานรับใช้ในบ้าน ต่อมาปี2558 กรมการจัดหางานเปิดให้จ้างอาชีพช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล จนกระทั่งล่าสุดมีประกาศอนุญาตให้จ้างงานตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาวหรือเมียนมา (ต่อไปขอเรียกว่าผู้ประสานงานด้านภาษา)

เหตุผลและความจำเป็นของการผลักดันให้เกิดการจ้างผู้ประสานงานด้านภาษา (Language coordinator) เกิดจากสถานการณ์เคลื่อนย้ายของประชากรข้ามชาติ (ทั้งแรงงานและผู้ติดตาม) จากประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 4 ล้านคน  (สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ,2555) ที่มักเกิดช่องว่างในการสื่อสารภาษา สถานะเข้าเมือง ตลอดจนการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม นำไปสู่นโยบายการนำแรงงานฯเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรต่อประชากรข้ามชาติ (Migrant-friendly services) โดยการพัฒนาพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.หรือMigrant Liaison Office) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.หรือ Migrant health volunteer) ในชุมชนหรือสถานประกอบการ ร่วมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทย เฉพาะ อสต.ให้มีรูปแบบคล้ายคลึงกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.หรือ Village health volunteer) ขณะที่ตำแหน่ง พสต.ยังไม่ถูกรับรองจากกระทรวงแรงงานให้เป็นอาชีพที่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนสามารถขออนุญาตทำงาน ด้วยเหตุที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ จึงเลี่ยงไปจ้างแรงงานข้ามชาติในตำแหน่งกรรมกรแทน (ในนิยามที่ใช้แรงกายควบคู่กับทักษะภาษา)

บทบาทของผู้ประสานงานด้านภาษาที่จะเข้ามาสวมทับแทนที่ พสต. คือการเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับประชากรข้ามชาติร่วมกับบุคลากรเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ (ในบริบทภาษาและวัฒนธรรมแรงงาน) การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในชุมชน การรณรงค์ความรู้สาธารณสุขมูลฐาน การให้ความรู้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ อนามัยแม่และเด็ก การเฝ้าระวังและควบคุมโรค การค้นหาและติดตามผู้ป่วย การสื่อสาร ฯลฯ ที่ล้วนส่งผลบวกถึงสุขภาพของประชากรไทยในชุมชนเดียวกัน ฯลฯ

โดยเฉพาะบทบาทการสื่อสาร ผู้ประสานงานด้านภาษาจะมีบทบาทจำเป็นอย่างยิ่งในการแปลความ (Translator) ด้วยวาจาและการตีความหมาย (Interpreter) ในงานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การจ้างงานในอาชีพผู้ประสานงานด้านภาษาของไทยถือว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าในการจัดบริการที่เป็นมิตร ทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นที่เผชิญกับวิกฤติผู้อพยพ เช่น โครงการนำร่องสถานพยาบาลที่เป็นมิตรกับแรงงานข้ามชาติในยุโรป (Migrant-Friendly Hospitals in Europe: MFH) รวม 12 ประเทศ ภายใต้ The Amsterdam Declaration (ปี2002-2004) ที่จัดอาสาสมัครบริการแปลภาษา ให้ข้อมูลข่าวสารแก่แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัยและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใช้แนวคิดสถานพยาบาลที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาษา

ล่าสุดนี้กระทรวงแรงงานเตรียมพิจารณาให้จังหวัดสมุทรสาครและระนองเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดจ้างผู้ประสานงานด้านภาษา ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมีเงื่อนไขให้ผู้ว่าจ้างต้องประกาศรับสมัครคนไทยก่อนอย่างน้อย 15 วัน หากประกาศแล้วไม่มีผู้มาสมัคร จึงสามารถจ้างในสัดส่วนผู้ประสานงานด้านภาษา 1 คนต่อแรงงานข้ามชาติ 100 คน ขณะที่หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงผลกำไรสามารถจ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่แรงงานข้ามชาติที่จะว่าจ้างต้องผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ทว่าปัจจุบัน ภาครัฐยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดฝึกอบรม ทำให้ไม่อาจตอบสนองความต้องการนายจ้างผู้ประกอบการได้

ตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษามีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยกตัวอย่างสถานพยาบาลเอกชนใน กทม.หลายแห่งที่จ้างแรงงานข้ามชาติในอัตราสูงกว่าบัณฑิตจบปริญญาตรีเท่าตัว ขณะที่หน่วยงานรัฐหลายแห่งประกาศรับสมัครล่ามในอัตราค่าจ้างเดือนละ15,000 บาท ไม่ว่าเป็นผู้มีหรือไม่มีสัญชาติไทย แต่กลับหาผู้สมัครได้ยากยิ่ง เพราะสมรภูมิแรงงานนั้นแข่งขันกันดุเดือดไปไกลแล้วนั่นเอง.

ผู้เขียน : ภาคภูมิ แสวงคำ เจ้าหน้าที่วิชาการ มูลนิธิรักษ์ไทย

เอกสารประกอบการเขียน

รายงานสุขภาพคนไทยปี 2556 “แรงงานข้ามชาติกับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย”

สำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือหลักสูตรอบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว(พสต.) 2558

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ “สถิติ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ พฤศจิกายน-ธันวาคม 2559”

http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/@asia/@ro-bangkok/documents/publication/wcms_bk_pb_187_th.pdf

http://www.mol.go.th/academician/basic_alien

http://www.mfh-eu.net/public/home.htm

http://research.mol.go.th/2013/rsdat/data/doc/JHWMni1/05JHWMni1.pdf

www.thaiprddc.org/download/article/article_20091201161250.doc