‘สารเคมีการเกษตร’ ภัยใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงต้องเร่งขับเคลื่อนประเด็นการควบคุมสารเคมีการเกษตรโดยเร่งด่วน เพื่อให้คนไทยรู้เท่าทันอันตรายที่คืบคลานเข้ามา และเข้าถึงอาหารปลอดภัยโดยไร้กังวล
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตมนุษย์ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ก่อนจะมาอยู่บนจานของทุกคน วัตถุดิบต่างๆ มีที่มาอย่างไร ปนเปื้อนสารเคมีอะไรมาบ้าง และสารเคมีที่ใช้ในเกษตรกรรมนั้นส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพร่างกาย
นี่เป็นโจทย์สำคัญที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเล็งเห็นและหยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนหลายครั้ง เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนโดยตรง และเพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ สมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 9 จึงได้หยิบเรื่อง ‘เกษตร อาหารปลอดภัย’ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกสักครั้ง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับฉายภาพความคืบหน้าและจังหวะก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนมตินี้
พ.ร.บ.สารเคมีเกษตร ก้าวแรกของอาหารปลอดภัย
เป็นธรรมดา ถ้าไม่มีกฎกติกาเข้ามาชี้นำหรือควบคุม โอกาสที่จะขับเคลื่อนที่งานต่างๆ ก็ย่อมลำบาก อย่างเรื่องวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งทุกคนทราบดีกันว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมาก และหากใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังก็จะสร้างความเสียหายอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มมติเกษตรอาหารปลอดภัยจึงพยายามผลักดันกฎหมายเรื่องสารเคมีทางการเกษตรโดยเฉพาะ คือร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยจากการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ซึ่ง รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงาน ระบุว่า จัดทำร่างออกมาเรียบร้อยแล้ว ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายเป็นระยะ
รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์
“เราตั้งใจจะขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอาหารปลอดภัยให้เห็นผลภายใน 1-2 ปีเพื่อให้เห็นผลเชิงนโยบาย แต่การขับเคลื่อนกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างบางฉบับก็มีกระแสคัดค้านจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องเป็นขบวนการ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากได้กฎหมายดีๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคีเครือข่ายซึ่งทำงานจริงก็ยิ่งต้องการพลังต่างๆ เข้ามาช่วยกัน”
อย่างไรก็ตาม เมืองไทยก็มีกฎหมายในเรื่องนี้อยู่บ้าง เช่น พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งหน่วยงานหลักที่ดูแลคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทว่ากฎหมายฉบับนี้มีช่องโหว่มาก ดังที่ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อธิบายว่า มีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ทั้งการนำเข้า การขึ้นทะเบียน การโฆษณาส่งเสริมการขาย การกระจายสินค้า การใช้ การตกค้าง จนถึงการกำจัดซากบรรจุภัณฑ์
“สารเคมีบางชนิดจำหน่ายสินค้าไม่ตรงกับทะเบียน เช่นขออนุญาตใช้กับพืชที่ไม่ใช่อาหาร แต่กลับไปใช้กับพืชที่เป็นอาหาร จนเกิดการตกค้าง โดยไม่มีการประเมินความเสี่ยง ทำให้เกิดประเด็นและความพยายามแก้ปัญหา ทั้งระดับเล็กๆ จนถึงขอแก้กฎหมาย ซึ่งจากการวิเคราะห์ส่วนที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีเพียงตอนต้นเท่านั้น แต่ช่วงที่เป็นการใช้หรือช่วงที่กระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปผู้ใช้นั้นโหว่ไป แล้วกลับมาอีกทีในเรื่องการตกค้าง ซึ่งระบุไว้ใน พ.ร.บ.อาหาร ทำให้เส้นทางการไหลของข้อมูลขาดช่วง ที่สำคัญผลกระทบจากการตกค้างในสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีการเชื่อมโยงที่เป็นระบบ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาร่างกฎหมายขึ้นมา ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายเดิมชัดเจน เพราะเราต้องการควบคุมสุขภาพของประชาชน ให้ได้บริโภคอาหารและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย”
ศราภา ศุทรินทร์
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ศราภา ศุทรินทร์ จากวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่าครอบคลุมตั้งแต่ชนิดของสารป้องกันศัตรูพืช ซึ่งจะมีเกณฑ์ขั้นต่ำการใช้สารเคมีที่ชัดเจน การควบคุมโฆษณาและส่งเสริมการขายให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม รวมไปถึงการควบคุมฉลากสินค้าที่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งยังเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีบทบาทตลอดทั้งกระบวนการ และที่สำคัญคือมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนขึ้นทั้งทางแพ่งและอาญา
“ความพิเศษของกฎหมายฉบับนี้คือการกำหนดบทบาทของหน่วยงานภาครัฐชัดเจนขึ้น เพื่อลดปัญหาความทับซ้อนของบทบาทหน้าที่ และยังมีการกำหนดปริมาณและเส้นทางการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่สารถูกนำเข้ามาในประเทศไทยจนไปถึงมือของเกษตรกร อย่างผู้ที่นำสินค้าไปจำหน่าย จะไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าทั่วๆ ไปแล้ว แต่จะมีการควบคุมคุณสมบัติด้วย” อ.ศราภา ย้ำภาพให้ชัดขึ้น
คุมโฆษณา-เน้นเฝ้าระวัง รู้ทัน ‘สารเคมี’
นายตรี บุญเจือ
อีกปัญหาใหญ่หนึ่งของการควบคุมสารเคมีการเกษตร คือการโฆษณาที่มีอยู่คึกโครม ในฐานะตัวแทนหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบโดยตรง นายตรี บุญเจือ รักษาการผู้อำนวยการส่วน สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้หน้าที่ควบคุมเนื้อหาว่าจะออกอากาศอะไรเป็นหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แต่ละสถานี ส่วน กสทช.มีหน้าที่ออกใบอนุญาตและกำกับดูแลการโฆษณาที่เกิดขึ้นในสื่อเป็นหลัก และก็เน้นการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดูแลเนื้อหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
“การโฆษณาไม่ใช่แค่สปอตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเนื้อหาที่แทรกในรายการ ซึ่งเรากำกับดูแลได้ โดยกฎเกณฑ์ที่ใช้หากพบเห็นโฆษณาที่เอาเปรียบผู้บริโภคคือแจ้งสถานีให้ระงับ หลังจากก็เพิ่มโทษเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ กสทช.เป็นเพียงช่องทาง จึงอาจจะต้องมีเจ้าภาพเข้ามาช่วยชี้ว่าสารเคมีนั้นหลอกลวงเกินจริง เหมือนเรื่องอาหารและยา ซึ่งมี อย.เข้ามาช่วยพิจารณาว่าโฆษณานั้นผิดกฎหมาย แล้วก็ส่งเรื่องมาที่ กสทช.ถือเป็นการทำงานร่วมกัน ขณะที่เรื่องสารเคมี ตอนนี้มีกรมวิชาการเกษตร แต่ก็มีอำนาจเฉพาะเรื่องปุ๋ย ส่วนวัตถุอันตรายอื่นก็ไปอยู่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเวลานี้ก็มีความพยายามคุยกัน 3 ฝ่าย เพื่อหาเจ้าภาพที่จะส่งไม้ต่อที่ กสทช.”
นอกจากการควบคุมโฆษณาแล้ว การจัดทำระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยที่ได้มาตรฐานก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน เพราะที่ผ่านมาระบบเฝ้าระวังมีลักษณะต่างคนต่างทำจนไม่สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้อย่างมีศักยภาพ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัยศึกษาประเด็นนี้ โดย นิธิวดี บัตรพรรธนะ หัวหน้ากลุ่มบริหารยุทธศาสตร์ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย เล่าความคืบหน้าว่า ในขั้นต้นจะทำเป็นลักษณะต้นแบบ โดยศึกษาข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ค้นหาจุดแข็งจุดอ่อนของระบบหลังดำเนินการ เพื่อจะได้เชื่อมโยงและออกแบบระบบใหม่ซึ่งเป็นที่พึงประสงค์ของประเทศไทย
“สิ่งที่เราได้กลับมาคือ การขับเคลื่อนของเครือข่ายความร่วมมือของภาคีที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเด็นนี้ ที่สำคัญเรายังตั้งใจให้ระบบนี้เป็นระบบกลางที่ทุกหน่วยงานสามารถแบ่งปัน ปรับปรุงและเชื่อมโยงเสนอแนะข้อมูลต่างๆ เพื่อข้อมูลนั้นจะต้องทันสมัย และใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด” นิธิวดี สรุปความคาดหวัง
- 50 views