“หมอธงชัย” รองอธิบดีกรมอนามัย ประกาศกร้าวขอสู้กับบริษัทนมผง เชื่อหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายใน 2-3 เดือน ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการตลาดนมผง ห้ามโฆษณา-ป้องกันความเข้าใจผิด
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2559 มีการจัดประชุมการขับเคลื่อน “มติ 3.3 การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การส่งเสริมการตลาดของธุรกิจนมผงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผลทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การตัดสินใจให้ลูกเลิกกินนมแม่และหันไปกินนมผงแทน ขอยืนยันว่าหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ... จะไม่เป็นการปิดกั้นข้อมูล และยังจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
สำหรับความคืบหน้าของการมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ 3.3 การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ทาง สธ.มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม 20 หน่วยงาน รวม 600 คน พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ.ในประเด็นสำคัญ รวมถึงประชุมร่วมกับกลุ่มสภาวิชาชีพ 2 ครั้ง เมื่อเดือน ธ.ค.2557 และ มี.ค.2558
จากนั้นได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ครม.ให้ความเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2558 จนกระทั่งร่าง พ.ร.บ.มาผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาในวันที่ 4 ส.ค.2559 และผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 ต.ค.2559 และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 17 ต.ค.2559 โดยขณะนี้ สนช.เห็นชอบวาระ 1 ไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในชั้นกรรมาธิการพิจารณา ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3ต่อไป
นพ.ธงชัย กล่าวถึงขอบเขต พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดฯ ว่า กฎหมายฉบับนี้มี 4 หมวด 47 มาตรา วัตถุประสงค์เพื่อควบคุมบริษัทที่ผลิตนมแต่ไม่ได้ควบคุมบุคลากรทางการแพทย์ โดยสาระสำคัญคือห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย การแจกตัวอย่าง การให้สิ่งของ รวมทั้งห้ามไม่ให้ติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ของทารกและเด็กเล็กทั้งทางตรงและทางอ้อม และกำหนดให้บริษัทให้ข้อมูลกับบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงการให้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต้องเป็นจริง มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ
“ถ้าแม่รับตัวอย่างนมผงจากบริษัทไป แล้วลองใช้เพียง 1 สัปดาห์ ร่างกายแม่ก็จะหยุดผลิตน้ำนม และต้องใช้นมผงตลอดไป นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องควบคุมไม่ให้บริษัทนมผงแจกตัวอย่างนมให้กับแม่” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า เชื่อว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายใน 2-3 เดือนนี้ ประเทศไทยจะได้ พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดนมผงฯ ซึ่งเป็นความต้องการของคนไทย ส่วนตัวคิดว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกันสู้กับบริษัทนมผง ขอประกาศว่าขณะนี้ตัวเองไม่ได้สู้กับใคร แต่กำลังสู้กับบริษัทนมผงอยู่
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิทธิของผู้หญิงและเด็กทุกคน ทุกฝ่ายจึงควรมาร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสตรีและเด็ก ผ่านการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” นพ.ธงชัย กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการวิจัยของ นายบวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนมผงทั้งสิ้น 6 บริษัท ในจำนวนนี้มี 2 บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวม 58% ขณะที่อีก 4 บริษัทมีส่วนแบ่งรวม 42% โดยมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาผลกำไรจะพบว่าแต่ละบริษัทมีผลกำไรเฉลี่ยกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท
ทางด้าน นายพิสิษฐ์ กาญจนภิญพงศ์ นายกเทศมนตรี ต.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ได้นำเงินกองทุนสวัสดิการตำบล ที่สมาชิกต้องจ่ายปีละ 365 วัน มาใช้สนับสนุนให้กับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และได้ดำเนินการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้และความแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจากการดำเนินการเรื่องนมแม่กว่า 2 ปี พบว่าเด็กที่กินนมแม่มีความชาญฉลาดมากกว่าเด็กที่กินนมผงอย่างชัดเจน ขณะที่เด็กที่กินนมผงจะพบว่ามีทั้งอ้วนและผอมเกินไป ฟันผุ มีปัญหาทางสุขภาพ
“เราพยายามจะติดป้ายประชาสัมพันธ์ ทั้งสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ชุมชน พื้นที่สาธารณะ ก็มักจะถูกทำลายป้าย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครมาทำลาย แต่เมื่อติดป้ายนมแม่ก็จะถูกทำลายเป็นประจำ” นายพิสิษฐ์ กล่าว
- 14 views