ผู้ตรวจ สธ.เขต 1 แจงข่าวเตรียมถ่ายโอน รพ.สต.ทั้ง 119 แห่งของ จ.แพร่ไป อบจ. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ถึงแนวทาง รูปแบบ ผลดี ผลเสีย เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ระบุการถ่ายโอนที่ผ่านมาไปยัง เทศบาลและ อบต. ยังไม่เคยถ่ายโอนไปที่ อบจ.มาก่อน หากผลศึกษาออกมารูปแบบใด สธ.ยินดีสนับสนุน ยึดประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด หน่วยบริการต้องมีมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจและสมัครใจ
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เปิดเผยว่า จากที่มีข่าวการเตรียมการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของจังหวัดแพร่ จำนวน 119 แห่ง ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ นั้น เป็นเพียงการเตรียมการถ่ายโอนภารกิจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่มีผลบังคับใช้มาแล้วถึง 20 ปี ซึ่งเป็นการถ่ายโอนไปยังเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลเท่านั้น แต่สำหรับการถ่ายโอนฯ ในครั้งนี้ เป็นการเตรียมการถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งยังไม่เคยมีการดำเนินการมาก่อน
ที่ผ่านมา จังหวัดแพร่ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ (อบจ.) โดยได้จัดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 3 ส่วน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ถึงแนวทางการถ่ายโอน รูปแบบการจัดบริการ และผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว อยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะต้องได้รับผลกระทบ และได้ทำความเข้าใจกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในพื้นที่ ถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในลำดับถัดไป
นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ได้จัดทำข้อมูลที่รอบด้าน เช่น ข้อมูลจำนวนเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต.แต่ละแห่ง จำนวนเงินเดือนและงบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดบริการ การวางแผน การกำกับติดตาม แนวทางการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นต้น เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป
นพ.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว โดยยึดประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด หน่วยบริการต้องมีมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจและสมัครใจ ส่วนระยะเวลาการถ่ายโอนจะเป็นเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย และจะต้องเป็นไปตามแผนปฏิบัติการ การกำหนดขั้นตอน การกระจายอำนาจฯ และขั้นตอนที่ถูกต้อง ได้แก่ ท้องถิ่นที่ประสงค์จะรับโอนตั้งคณะกรรมการศึกษารายละเอียดของการถ่ายโอนภารกิจเพื่อนำเสนอที่ประชุมสภาท้องถิ่น การเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการประเมินความพร้อม การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและให้ข้อคิดเห็น แล้วจึงยื่นความประสงค์ขอรับการประเมินความพร้อม จากนั้นคณะกรรมการประเมินความพร้อมจะพิจารณาแล้วทำการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากผ่านการประเมินจึงจะส่งผลการประเมินให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการถ่ายโอนฯ พิจารณา แล้วแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุมัติให้มีการถ่ายโอนฯ จากนั้นจึงจะมีการส่งมอบภารกิจ ทรัพย์สิน และบุคลากรตามหลักเกณฑ์ ต่อไป
นพ.ธงชัย กล่าวสรุปว่า การดำเนินการของจังหวัดแพร่ ขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ประชาชนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจได้ว่าการถ่ายโอนฯ รพ.สต. จะทำให้ประชาชนจะยังคงได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐานและได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แพร่’ เสนอโมเดลใหม่ โอนย้าย รพ.สต.ทั้งจังหวัด 119 แห่งไปอยู่ อบจ. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทาง
- 59 views