ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุข ประกอบด้วย ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ชวส, ชมรมผอ.รพ.สต.(ประเทศไทย), ชมรม ผอ.รพ.สต (จพ.ชำนาญงาน), ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขแห่งประเทศไทย, ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้, ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีวุฒิ ป.ตรีชายแดนใต้, สมาพันธ์ลูกจ้างและข้าราชการสาธารณสุขชายแดนใต้, สมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย(สคสท) และเครือข่ายพสกนิกรรวมใจสามัคคี (คพรส.) เตรียมยื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้บริหารทุกระดับ เรื่อง ทักท้วงโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ที่ไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน
โดยระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (หนังสือ สธ.0203.042.4/ว261 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2559) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า หนังสือ ว 261 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทนในข้อที่ 2 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการชดเชยค่าเสียโอกาสในการดำรงชีวิตที่สะดวกสบาย และต้องมีแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการที่ยังมีปัญหาสภาพความไม่พร้อมสมบูรณ์ของทรัพยากรและสิ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ในหลักเกณฑ์ฯ ค่าตอบแทน พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 8 พ.ศ.2556 ก็แสดงเจตนาเป็นแนวทางปฏิบัติในการมอบหมายเจ้าหน้าที่สายงานต่ำกว่าปริญญาตรีผู้มีวุฒิเพิ่มขึ้นและมีคุณสมบัติครบถ้วน ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งส่วนราชการไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งเพื่อบรรจุแต่งตั้งได้ เพื่อประโยชน์ของทางราชการและการบริการประชาชนที่ได้คุณภาพมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม 2559 นี้ ยังเกิดปัญหาจากความไม่เข้าใจ หนังสือ ว 261 อีกเช่นเดิม โดยชมรมที่มีรายนามข้างต้นได้รับแจ้งจากสมาชิกว่ามีหนังสือจาก โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ระบุว่าไม่สามารถมอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการได้ โดยมีรายละเอียดในหนังสือตามข้อความที่ผู้บริหารโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ดังนี้
"การที่จะแต่งตั้งตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขนั้น ต้องได้ผ่านการสอบ ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนตำแหน่งตามวุฒิ การที่จะมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข หากมีวัตถุประสงค์เพื่อเบิกจ่ายค่าตอบแทนเทียบเท่าปริญญาตรี จึงเป็นการไม่ควร"
ทางชมรมซึ่งมีรายนามข้างต้นเห็นว่า การอ้างดังกล่าวของงานบุคลากรและผู้บริหารโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์นั้น ไม่สมเหตุสมผล และเป็นการรอนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของบุคลากรสาธารณสุข สะท้อนถึงความไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของหนังสือ ว 261 อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ตามข้อเท็จจริงแล้ว การจ่ายค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามหนังสือ ว 261ดังกล่าว มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับบางวิชาชีพ แต่สามารถเพิ่มขวัญกำลังใจให้บุคลากรได้อย่างมากมาย ชมรมฯ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้
1.กระทรวงสาธารณสุขควรหาทางแก้ไขปัญหาการรอนสิทธิบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศที่ยังรอนสิทธิบุคลากร โดยการสั่งการให้มีการปฏิบัติหนังสือตาม หนังสือ ว 261 อย่างแท้จริง
2.กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งติดตามหนังสือ ชี้แจงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทน ฉบับที่ 11จากกระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลางให้มีผลบังคับใช้และมีเนื้อหาที่ครอบคลุมชัดเจน โดยเฉพาะในสายงานระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีวุฒิเพิ่ม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นขวัญกำลังใจบุคลากร โดยบรรจุประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย
2.1 การนิยามการนับระยะเวลาในการจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีวุฒิเพิ่ม ในค่าตอบแทนฉบับ 11 ให้ชัดเจนว่า นับสิทธิเกื้อกูลได้หรือไม่ หรือนับตั้งแต่มีคำสั่ง
2.2 การนิยามเจ้าหน้าที่ที่มีวุฒิปริญาตรีที่ได้รับค่าตอบแทน ควรให้ครอบคลุมเจ้าพนักงาน (จพ.) สาธารณสุข, จพ.ทันตสาธารณสุข, จพ.เภสัชกรรม, จพ.แพทย์แผนไทย, จพ.วิทยาศาสตร์การแพทย์, จพ.เวชสถิต, จพ.เวชกิจฉุกเฉิน ฯลฯ ทั้งในรพ.สต., สสอ., รพช., รพท., รพศ., สสจ. และหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย
3.กระทรวงสาธารณสุข/สปสช./เขตสุขภาพ./CUP ควรสนับสนุนงบประมาณทุกประเภทให้แก่ รพ.สต.โดยตรง และโอนให้ครบร้อยละ 100 โดยรวมค่าตอบแทนของบุคลากรระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่มีวุฒิเพิ่มด้วย
4.กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนทุกฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกวิชาชีพ และเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรต่อไป เช่น หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบฉบับ 5 (ค่าเวร) และฉบับ 10 (ชายแดนใต้)
ทั้งนี้ชมรมฯ จะติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานี้ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หากไม่คืบหน้า ใดๆ ชมรมจะทำการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
- 37 views