แถลงข่าวต้าน ก.คลัง ชงประกันเอกชนบริหารกองทุนรักษาพยาบาล ขรก. 7 หมื่นล้าน “หมอมงคล” หวั่นรัฐใช้ ม.44 ประกาศเดินหน้า เชื่อส่งผลกระทบ รพ.รัฐทั้งประเทศล้มภายใน 2 ปี ซ้ำระบบสุขภาพล้มทั้งระบบ ด้าน “หมอศิริวัฒน์” ระบุกรมบัญชีกลางแก้ปัญหางบพุ่งแบบเกาไม่ถูกที่คัน ทั้งเหตุเบิกยานอกบัญชี ยาต้นแบบ การรักษาเกินจำเป็น “อดีตเลขาธิการ สคบ.” เผยช่วงทำงาน สคบ. พบปัญหาร้องเรียน บ.ประกันเอกชนเพียบ เหตุเงื่อนไขมาก เบิกจ่ายยาก
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย –เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) ได้เปิดแถลงข่าว “คัดค้านกระทรวงการคลังเตรียมยกงบประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาท” นำโดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประกาศของกระทรวงการคลังที่เตรียมจะโอนให้บริษัทประกันเอกชนบริหารกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ พร้อมยืนยันไม่มีการลดสิทธิประโยชน์และไม่เพิ่มงบประมาณนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยบริษัทประกันเอกชน เพราะเคยมีประสบการณ์จาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถที่ดำเนินการโดยเอกชน นอกจากมีการคิดค่าบริหารจัดการและกำไร ทำให้เอกชนได้รับเงินไปถึงร้อยละ 40 ของกองทุน การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลยังมีความยุ่งยาก ส่งผลให้ รพ.ที่รับรักษาต้องเบิกจ่ายกองทุนประกันสุขภาพรัฐแทน ดังนั้นการเปิดให้เอกชนมาบริหารกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการคงไม่ต่างกัน ซึ่งจะทำให้เงินที่ควรเข้าสู่วงจร รพ.รัฐหายไป เพียงแค่ร้อยละ 10 ของเงิน 7.2 หมื่นล้านบาทก็เป็นเงินมหาศาลแล้ว และเมื่อเงินหายไปจากระบบ เป็นไปได้หรือไม่ที่สิทธิประโยชน์รักษาของข้าราชการจะคงที่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้
ทั้งนี้เรื่องนี้หากเดินหน้าต่อจะส่งผลกระทบทั้งผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ รวมถึงระบบสุขภาพทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ รพ.รัฐนอกจากถูกผลกระทบจากงบที่ไม่เพียงพอแล้ว หากยังได้รับผลกระทบนี้อีกจะยิ่งสร้างผลกระทบ และเชื่อว่า รพ.รัฐทั้งหมดจะล้มภายใน 2 ปี ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศทั้งหมดจะล้มระเนระนาด วันนี้ทุกคนผู้มีสิทธิ์รวมทั้งสถานพยาบาลโดยเฉพาะภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องลุกขึ้นมาว่าเราไม่เห็นด้วย และปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้มาจากความบกพร่องการบริหารของกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมบัญชีกลางที่นอกจากไม่ดูในเรื่องสิทธิประโยชน์และมาตรฐานการรักษาของข้าราชการแล้ว ยังไม่มีการตรวจสอบการใช้สิทธิจนทำให้เกิดปัญหา ซ้ำยังไม่แก้ปัญหาที่สาเหตุ แต่กลับจะโยนให้บริษัทประกันเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้เงินไหลเข้าสู่กระเป๋าผู้มีอันจะกินและประชาชนจะไม่เหลืออะไร
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ในการควบคุมค่าใช้จ่ายรวมถึงการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หากกระทรวงการคลังทำเองไม่ได้ ควรให้หน่วยงานอื่นที่ไม่แสวงหากำไรเข้ามาช่วย อาจเป็นหน่วยงานอิสระหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำหน้าที่เคลียร์ริ่งเฮ้าส์และมีเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาใครจะรังเกียจและไม่ชอบ สปสช. เพราะทำให้ รพ.ต่างๆ เดือดร้อนจากการกำหนดสิทธิประโยชน์และตรวจสอบ แต่ต้นเหตุที่แท้จริงมาจากงบประมาณแต่ละปีที่ได้น้อย ไม่ทันกับค่ารักษาที่เพิ่มขึ้น ซ้ำเงินก้อนนี้ยังถูกหักเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลตามหน่วยบริการอีก เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ยอมรับความจริง นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีผลการศึกษาหลายฉบับที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหางบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ดังนั้นขอให้กรมบัญชีกลางหันมาใช้วิชาการแก้ปัญหาเกิดขึ้น ดีกว่าไม่ใช่ปัญญาโดยโยนให้เอกชน จนทำให้ระบบสุขภาพประเทศล้มทั้งระบบ คนไทยจะไม่มีหลักประกันสุขภาพเลยแม้แต่คนเดียว
“วันนี้เราต้องช่วยกันปิดกั้นสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เดินหน้าต่อไป การที่มีการประชุมรับฟังความเห็นวานนี้อาจถูกอ้างได้ว่า ได้มีการจัดรับฟังความเห็นถ้วนหน้าแล้ว เพื่อที่จะนำเรื่องนี้เสนอต่อ ครม. อนุมัติต่อไป ซึ่งยังเป็นห่วงว่าสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตอนตี 2 โดยใช้ ม.44 ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพล้มทั้งประเทศได้” อดีต รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหางบค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลระบบสวัสดิการข้าราชการที่สูงขึ้นนี้ กรมบัญชีกลางต้องเกาให้ถูกที่คัน ในฐานะอดีต ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เคยทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลางมา 10 ปีแล้ว ตอนนั้นพบว่าระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการจะเป็นภาระในอนาคตจำเป็นเป็นต้องปฏิรูป แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนอธิบดีและข้าราชการที่ทำงาน จึงทำให้เรื่องนี้ขาดความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ควรมีการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขที่สาเหตุ อย่างกรณีการสั่งจ่ายยานอกบัญชี การเบิกจ่ายยาต้นแบบแทนยาสามัญ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการรักษาที่เกินความจำเป็น ตรงนี้ต้องดูว่าระบบมีการตรวจสอบที่ดีพอหรือไม่ และต้องมีการกำกับให้เหมาะสม เช่นเดียวกับกรณีการตรวจสอบ รพ.ที่มีการเบิกจ่ายค่ายาสูง โดยเฉพาะกลุ่มยามะเร็งที่ได้มีการแก้ไขปัญหา ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดแทนที่จะโยนให้บริษัทประกันเอกชนทำ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา
“ในอดีตเคยมี รพ.กระทรวงสาธารณสุขให้เอกชนมาทำอาหารผู้ป่วยใน รพ.แทน ผลเสียคือคนไข้ได้กินแต่ข้าวต้มวิญญาณหมู ไม่มีโปรตีน เพราะเอกชนไม่มีความพร้อม ซ้ำยังไม่มีระบบตรวจสอบ สะท้อนว่าการจะโยนงานให้เอกชนทำคงไม่ใช่จะทำได้ทุกเรื่อง” อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ทางออกควรให้ตัวแทน รพ.รัฐ สถาบันวิชาการ และ สปสช.เข้ามาหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหา และไม่ควรใช้สูตรสำเร็จว่า เมื่อราชการทำไม่ไหวต้องโยนให้เอกชนทำเท่านั้น ทั้งที่มีการตั้งคำถามถึงผลกระทบ เพราะที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยเองก็เป็นเสือนอนกินมานานจากกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
นางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า การดำเนินธุรกิจเอกชนเป้าหมายคือกำไรสูงสุด และจากที่เคยอยู่ สคบ.ได้เห็นข้อร้องเรียนผู้บริโภคจากการทำประกันสุขภาพ ประกันออมเงิน ประกันอุบัติเหตุเข้ามามาก หากเป็นประกันชั้นหนึ่งปัญหาจะน้อย แต่หากเป็นประกันชั้น 3 เงื่อนไขการชดเชยจะเยอะมาก ผู้ทำประกันต้องต่อสู้มาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะ ที่มีฐานะดีมีส่วนน้อย หากต้องหาเงินมาจ่ายเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลเองคงเดือดร้อน ทั้งนี้ปัจจุบันยอมรับว่า สิทธิการเบิกจ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการน้อยลง บางอย่างเบิกไม่ได้เราก็ยอมรับสภาพและจ่ายเองบางส่วน แต่หากให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารกองทุนย่อมต้องหากำไร บวกกับการคิดค่าบริหารจัดการ ทั้งการตั้งสำนักงาน ค่าอุปกรณ์ เงินกองทุนจะเหลือเท่าไหร่ ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดกับข้าราชการและ รพ.ที่ต้องแบกรับไป
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่ากระทรวงการคลังจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การคิดค่าบริหารจัดการของบริษัทประกันเอกชนและประสิทธิภาพการเบิกจ่าย จำนวนเม็ดเงินที่จะหายไปจากระบบรักษาพยาบาลทั่วประเทศที่ส่งผลต่อสภาพคล่อง รพ. และอัตราการร่วมจ่ายของข้าราชการและครอบครัวที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่เพียงแต่จะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูง แต่จะยังทำให้เกิดปัญหาในอนาคตที่กระทบต่อระบบสุขภาพประเทศเป็นลูกโซ่ จึงควรทบทวนและศึกษาให้รอบด้าน
สำหรับทางออกเพื่อทำให้ระบบรักษาพยาบาลข้าราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการควบคุมค่าใช้จ่าย มีข้อเสนอ 3 ทางเลือก ดังนี้
1.ลงทุนเพิ่มศักยภาพครั้งใหญ่ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อบริหารระบบนี้ได้อย่างมืออาชีพ
2.โอนระบบให้หน่วยงานรัฐที่ทำในเรื่องนี้และมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว เป็นผู้บริหารระบบ
และ 3.ลงทุนจัดตั้งหน่วยงานของรัฐและตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ เพื่อดูแลระบบนี้โดยเฉพาะ
ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กระทบสิทธิข้าราชการและไม่เพิ่มภาระงบประมาณรัฐบาล
- 10 views