บอร์ด สปสช.อนุมัติ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ปี (พ.ศ. 2560-2564) พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งเป้า “ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังยั่งยืน มีธรรมาภิบาล”
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สปสช.ว่า ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบและอนุมัติหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์นำเสนอ ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช.ได้เคยเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 แต่ได้มีความเห็นให้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนส่วนเพื่อให้เกิดความชัดเจนเพิ่มขึ้นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมอบให้คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ดำเนินการปรับแก้ไข พร้อมเชิญผู้แทนคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขและผู้ให้บริการมาร่วมให้ความเห็น
อย่างไรก็ตามจากการประชุมในวันนี้ ยังมีบอร์ดบางท่านขอให้ความเห็นเพิ่มเติม ดังนั้นก่อน สปสช.จะประกาศยุทธศาสตร์ฯ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีการปรับปรุงเล็กน้อยตามข้อเสนอแนะที่ได้รับครั้งนี้
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 มีจุดเน้นเพื่อมุ่งให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” โดยมีพันธกิจเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนประชาชนในการจัดหาบริการที่มีคุณภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามความจำเป็น ซึ่งมี 3 เป้าหมายที่สำคัญ คือ “ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังยั่งยืน มีธรรมาภิบาล”
ทั้งนี้เพื่อให้ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้บรรลุเป้าหมาย ยังได้กำหนด 10 ตัวชี้วัดที่เป็นความท้าทายการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 5 ปีจากนี้ อาทิ ร้อยละประสิทธิผลของความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ภายในปี 2564, ร้อยละของครัวเรือนที่เกิดวิกฤติทางการเงินจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่เกินร้อยละ 2.3 ในปี 2564, ระดับความสำเร็จของความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบร่วมกันของบอร์ด สปสช.และบอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานฯ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ภายในเวลา 5 ปี, ร้อยละความสำเร็จของการเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2564 และร้อยละการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ตามมาตรฐานการประเมินของรัฐ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2564 เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนการดำเนินงานจะใช้ 5 กลยุทธ์ ทั้งสร้างความมั่นใจการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ สร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการ สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพการบริหารกองทุน สร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างความมั่นใจในธรรมาภิบาล ซึ่งแต่ละกลยุทธ์จะมีแผนการดำเนินงานรองรับในช่วง 5 ปีจากนี้
- 9 views