เพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมสิทธิบัตรทอง ที่มีอายุที่ต่ำกว่า 55 ปี รักษาด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมได้ เน้นผ่าในรายที่จำเป็นก่อน เริ่ม 1 ตุลาคม 2559 ภายใต้การพิจาณาของคณะทำงานฯ ระดับเขต มี นพ.อภิสิทธิ์ ปัทมวัฒน์ ศัลยแพทย์ Ortho รพ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธาน
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เปิดเผยว่า บริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อม เป็นอีกหนึ่งความครอบคลุมในการรักษาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเข้าถึงบริการการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมที่มีคุณภาพ ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัดรักษาสิทธิบัตรทอง ทั่วประเทศมีจำนวน 268,000 รายต่อปี อัตราการให้บริการผ่าตัดข้อเขาเทียมตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.4% ขณะที่สัดส่วนการผ่าตัดข้อเข่าเทียมในอายุต่ำกว่า 60 ปี คิดเป็น 1 ใน 4 ของการผ่าตัด และการบริการส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคกลาง เขต 4, 5 และ 13 เป้าหมายทั่วประเทศ 10,000 ข้าง
สำหรับเขต 4 สระบุรีใน 3 ปี มีอัตราการให้บริการผ่าตัดข้อเขาเทียมตั้งแต่ปี 2557-2559 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15.6%
ปี 2558 ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด จำนวน 1,239 ราย
ปี 2559 จำนวน 947 ราย
โดยที่ประชุมคณะทำงานการบริหารจัดการให้บริการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 มติเห็นชอบกำหนดประมาณการโควต้าเป้าหมายรายจังหวัดโดยยึดข้อมูลเดิมปี 2559 ให้กลุ่มเป้าหมายปี 2560 จำนวนรวม 947 รายในพื้นที่ 8 จังหวัด ทั้งนี้หากเกินโควต้าที่ประมาณการ สปสช.เขต 4 จะดำเนินการขอโควต้าเพิ่มจากส่วนกลาง และพิจารณาปรับเกลี่ยเป้าหมายระดับเขตภายในไตรมาส 2 เดือนมีนาคม 2560
ในส่วนของคุณสมบัติของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีข้อบ่งชี้ได้รับการผ่าตัดรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ มีดังนี้
1. ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสิทธิบัตรทอง ได้รับการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee OA)
2. มีข้อบ่งชี้ ตามแนวทางและเงื่อนไขการให้บริการผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมที่ สปสช.กำหนด
และ 3. เข้ารับบริการในหน่วยบริการที่รับการส่งต่อโดยได้รับการส่งต่อจากหน่วยบริการประจำหรือเครือข่ายหน่วยบริการประจำของผู้มีสิทธิ ซึ่งในปี 2560 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง คือผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 55 ปีสามารถได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เริ่ม 1 ตุลาคม 2559 ภายใต้การพิจารณาของคณะทำงานฯในระดับเขต โดยมี นพ.อภิสิทธิ์ ปัทมวัฒน์ ศัลยแพทย์ Ortho รพ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธาน คณะทำงานได้แก่ นพ.นที เรื่องทอง รพ.บ้านหมี่ นพ.สิริศักดิ์ บุญรักษา รพ.พระพุทธบาท นพ.นิติพล นวลสาลี รพ.พระนารายณ์ และผู้แทนจาก รพ.พระนั่งเกล้า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
สำหรับหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมในเขต 4 ได้แก่ จ.นนทบุรี รพ.พระนั่งเกล้า รพ.ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ จ.ปทุมธานี รพ.ปทุมธานี รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.พระนครศรีอยุธยา รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.เสนา รพ.ศุภมิตรเสนา จ.อ่างทอง รพ.อ่างทอง รพ.วิเศษชัยชาญ จ.สระบุรี รพ.สระบุรี รพ.พระพุทธบาท จ.ลพบุรี รพ.ลพบุรี รพ.บ้านหมี่ รพ.อานันทมหิดล จ.สิงห์บุรี รพ.สิงห์บุรี รพ.อินทร์บุรี และ จ.นครนายก รพ.นครนายก รพ.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ และ รพ.นายร้อย จปร.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช.โทร 1330 บริการ 24 ชั่วโมง
- 1453 views