ทำไมต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ต...เมื่อมีมินิมาร์ทหน้าปากซอย
ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน เปิดประเด็นน่าสนใจว่า เมื่อสมัยก่อนเรามีแต่ร้านค้าระดับซุปเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ครบถ้วน เวลาเราต้องการซื้อสินค้าจึงต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ต่อมาเริ่มมีความพยายามเอาใจลูกค้ามากขึ้น นัยว่าลูกค้าคือพระเจ้า ผู้ค้าจึงขยับผลักดันทำร้านค้าให้เล็กลง จับจ่ายใช้สอยได้ง่ายขึ้น มีสินค้าสิ่งจำเป็นพื้นฐานครบถ้วน จัดหมวดหมู่ให้หาง่ายเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ เรียกว่า มินิมาร์ท เป็นคอนวีเนียนสโตร์ (Convenience Store) หรือร้านสะดวกซื้อ แล้วเข็นร้านสะดวกซื้อมาไว้ที่ปากซอยหน้าบ้าน ผู้คนก็ไม่ต้องเดินทางไปซุปเปอร์มาร์เก็ตบ่อยๆ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ไปมินิมาร์ท
นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์
หลายคนฝากชีวิตไว้กับมินิมาร์ทนี่แหละ เพราะบางร้านเขาบอกว่า หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา แต่มินิมาร์ทก็มีของไม่ครบนะ ของชิ้นใหญ่ๆ ของที่ไม่จำเป็นต้องใช้บ่อย ยังวางขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ดังนั้นนานๆ ครั้งเราก็ต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ตสักครั้ง เพื่อซื้อของที่ร้านเล็กไม่มี
คลินิกหมอครอบครัว ก็เหมือนมินิมาร์ทนั่นแหละ ท่านปลัดโสภณว่า ป่วยเล็กป่วยน้อยทำไมต้องไปโรงพยาบาล แวะที่คลินิกหมอครอบครัว คอนวีเนียนคลินิก คลินิกสะดวกพบ ที่มีครบทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และทีม สหสาขาวิชาชีพ ที่ดูแลเราทั้งตัว (และหัวใจ)
ไม่ใช่หมอหูที่ดูแต่หู หมอตาที่ดูแต่ตา แต่เป็นทีมหมอครอบครัวที่ดูแลเราไม่ให้เจ็บป่วย ป่วยน้อยก็รักษาที่คลินิกนี้ ป่วยมากก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ ดีกว่าอะไรๆ ก็ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ ไปตั้งแต่เช้ามืด ต้องเอารองเท้าไปจองคิว กว่าจะได้ตรวจ เจอหมอแค่แว้บเดียว จะถามจะปรึกษาอะไรก็ไม่ได้ เพราะหมอยังมีคนไข้รออีกเยอะ แถมเมื่อหมอโรงพยาบาลใหญ่รักษาอย่างไร ทีมหมอครอบครัวก็รับกลับมาดูแลต่อเนื่องได้อีก
หมอก็เป็นหมอคนเดิมที่คุ้นเคย ไม่เปลี่ยนหน้าไปเรื่อยเหมือนโรงพยาบาลใหญ่ เผลอๆ ก็ไม่ต้องเดินทาง เพราะชาวบ้านกับทีมหมอครอบครัวตกลงกันหาวิธีติดต่อสื่อสารกันได้ เช่น กลุ่มไลน์ เฟสบุ้ค ก็จะยิ่งสะดวกขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าคราวนี้จะมี หมอเป็นญาติ ก็ได้กระมัง
หมายเหตุ ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ปลัดไม่เกี่ยว เพราะปลัดไม่ได้พูด แต่ผู้เขียนพูดเอง
แล้ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.เป็นอะไร รพ.สต.ก็กำลังปรับโฉมให้เป็นคลินิกหมอครอบครัวเหมือน ร้านโชห่วย ที่เอาใจลูกค้า ปรับโฉมเป็นมินิมาร์ทไง (อุ้ย...หมออนามัยจะโกรธมั้ยนี่ ไปหาว่าเขาเป็นโชห่วย)
เดิมร้านโชห่วยก็เป็นขวัญใจลูกค้าในชุมชนอยู่แล้ว กะปิปลาร้าเขาก็ไม่เอาไปขายในมินิมาร์ท กะปิปลาร้าก็ยังต้องพึ่งโชห่วยอยู่ เหมือนพื้นฐานการดูแลสุขภาพก็ยังต้องพึ่ง รพ.สต. เพียงแต่คลินิกหมอครอบครัวที่ว่านี้จะจัดระบบให้ชัดเจนขึ้น เป็นการยกระดับการบริการปฐมภูมิให้กับประชาชน คงส่วนเดิมเติมส่วนขาด ให้ รพ.สต.มีความครบถ้วนมากขึ้น ขาดอะไรก็เติม ที่ดีอยู่แล้วก็คงไว้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน
เรียกว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพของ รพ.สต. ทำทั้งงานที่ถนัดอยู่เดิม งานใหม่ที่เพิ่มก็หาคนที่ถนัดมาทำ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เพิ่มงานอะไรก็หมอคนเดิม เดิมรักษาเล็กๆ น้อยๆ ต่อมาเห็นว่ารักษาฟันจำเป็น เขาก็จะเข็นให้หมออนามัยขูดหินปูน (ยังจำได้มั้ย) เมื่อเห็นว่าภาวะทางจิตสำคัญ เขาก็ส่งหมออนามัยไปอบรมจิตเวช ตอนนี้เขาก็ให้หมออนามัยรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถึงเกิดคำฮิตที่ว่า อะไรก็กู ถ้าครั้งนี้ไม่เอาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงมา ต่อไปคงต้องให้หมออนามัยฉีด SK ละลายลิ่มเลือด
แล้วโชห่วยต่างจากคอนวีเนียนสโตร์อย่างไร โชห่วยมีของที่คนขายอยากขาย ลูกค้ามาซื้อต้องบอกว่าจะซื้ออะไร เจ้าของร้านจะไปหยิบมาให้ คอนวีเนียนสโตร์มีของที่ลูกค้าอยากซื้อ เลือกหยิบเอาเองตามความพอใจ คลินิกหมอครอบครัวก็เช่นกัน ลูกค้าคือประชาชนในพื้นที่ สามารถเข้าถึงทีมหมอครอบครัว ปรึกษาหารือได้ถึงสุขภาพของตน โดยทีมหมอที่พร้อมจะให้คำปรึกษา ไม่เหมือนโรงพยาบาลใหญ่ที่สินค้าเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ระบบบริการเหมือนโชห่วย คือแล้วแต่หมอจะตัดสินใจ คนไข้ได้แต่ทำตามที่หมอสั่ง
มินิมาร์ท ให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความสะดวกของลูกค้า จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จ่ายค่าโทรศัพท์ ก็ไปที่มินิมาร์ท ซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อตั๋วรถทัวร์ ก็ไปจ่ายเงิน รับตั๋วที่มินิมาร์ท คลินิกหมอครอบครัวก็เช่นกัน จะเป็นตัวกลางในการติดต่อกับโรงพยาบาลใหญ่ คือจะเป็นหมอคนแรกของครอบครัวนั่นเอง
แต่คลินิกหมอครอบครัว ก็ทำไม่ได้ทุกอย่างนะ หากเจ็บป่วยมากๆ คนไข้ก็ยังต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ โดยทีมหมอครอบครัวนั่นแหละที่จะเป็นผู้ประสานการส่งต่อให้ เพราะทีมหมอครอบครัวที่อยู่ปากซอย ก็คือทีมเดียวกับหมอโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ได้รับการดูแลต่อเนื่องได้เลย ไม่ต้องไปเริ่มเข้าคิวใหม่ คนไข้ก็ไม่แออัดเหมือนเก่า เพราะดูแลแต่ผู้ป่วยที่จำเป็นเท่านั้น
นั่นสิ....
ทำไมต้องไปโรงพยาบาล...เมื่อมี คลินิกหมอครอบครัว
ผู้เขียน : นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตบริการสุขภาพที่ 3
เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 28 กันยายน 2559 http://buabangbai.blogspot.com
- 388 views