เลขานุการอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ แจงผลศึกษาความต้องการบุคลากรใน 10 ปีข้างหน้า ไม่ได้ลดทอนความสำคัญของวิชาชีพสาธารณสุข แต่เทียบปริมาณการผลิตบุคลากรแล้วเกินความต้องการไปมาก ต้องเปลี่ยนสมรรถนะบัณฑิตใหม่ เน้นดูแลผู้สูงอายุและงานอาชีวะอนามัยมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องความต้องการของตลาดในอนาคต

นพ.ฑิณกร โนรี เลขานุการคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า กรณีผลการศึกษาเรื่องการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) ซึ่งนำเสนอคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ โดยผลการศึกษาดังกล่าวพบว่าการผลิตบุคลากรกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเกินความต้องการอย่างมาก และได้เสนอให้ทบทวนการผลิตตลอดจนปรับเปลี่ยนสมรรถนะ (competency) ให้สอดคล้องกับบริบทในอนาคต จนทำให้กลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขหลายกลุ่มเข้าใจว่าการศึกษาดังกล่าวลดความสำคัญของวิชาชีพลงนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการลดทอนความสำคัญของวิชาชีพสาธารณสุขเลย การศึกษานี้เป็นการพูดถึงภาพรวมบุคลากรสาธารณสุขใน 10 ปีข้างหน้า โดยดูทั้งความต้องการกำลังคนและอัตราการผลิตบุคลากร ซึ่งกรณีของวิชาชีพสาธารณสุข มีซัพพลายที่เกินดีมานด์อย่างมาก 

นพ.ฑิณกร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ต้องการเห็นภาพรวมความต้องการกำลังคนสุขภาพของประเทศไทยว่ามีเท่าใด จึงมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ โดยวางโจทย์ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าระบบ primary care ในอนาคตต้องเข้มแข็ง และได้ตั้งคณะทำงาน 15 ชุด แบ่งตามวิชาชีพต่างๆ องค์ประกอบของคณะทำงานจะมี stakeholder ทั้งหมด ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และสภาวิชาชีพ ซึ่งในส่วนของคณะทำงานวิชาชีพสาธารณสุข มี รศ.ประยูร ฟองสถิตย์กุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานคณะทำงาน 

นพ.ฑิณกร กล่าวต่อไปว่า วิธีการคำนวณความต้องการบุคลากรในอนาคต จะนำปัจจัยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมาคำนวณ ซึ่งจากอัตราการเกิดในปัจุบัน ในอีก 10 ปีประเทศไทยจะมีประชากรเพิ่มเพียง 1 ล้านคน แต่จำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นนำภาระงานในปัจจุบันมาคาดการณ์ไปถึงอนาคต รวมทั้งปัจจัยเรื่องนโยบายการทำ primary care cluster แล้วคิด Senario ว่าถ้าถ่ายเทคนไข้จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน มาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภาระงานจะเป็นอย่างไร โดยรูปแบบการคำนวณจะมี 3 แบบ คือ

1.คำนวนเฉพาะความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวกับงานบริการสาธารณสุขอย่างเดียว

2.คำนวณความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวกับงานบริการสาธารณสุข บวกด้วยความต้องการเจ้าหน้าที่อาชีวะอนามัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ด้วย

และ 3.คำนวนตามอัตราส่วนต่อจำนวนประชากร 1:1,250

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า หากคำนวณด้วยวิธีที่ 1 ในอีก 10 ปีจะมีความต้องการบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุข 2.4-3 หมื่นคน วิธีที่ 2 ต้องการ 6 หมื่นคน และวิธีที่ 3 ต้องการ 5.3 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขฝั่ง supply หรือฝั่งผู้ผลิต มีตัวเลขจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่าปัจจุบันมีการผลิตบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุขปีละ 2.6 หมื่นคน แม้จะหักการสูญเสีย เช่น เปลี่ยนอาชีพ ลาออกหรือเกษียณ โดยตั้งสมมุติฐานไว้ที่ 2% แต่ตัวเลขการผลิตในอีก 10 ปีก็ยังจะมีบุคลากรด้านนี้กว่า 2.6 แสนคน ซึ่งจะพบว่าเกินความต้องการไปมาก ในข้อเสนอของการศึกษาดังกล่าวจึงเสนอให้ทบทวนจำนวนการผลิต

"การศึกษานี้เป็นการศึกษาภาพรวมประเทศ เอาดีมานด์กับซัพพลายมาเทียบกัน ไม่ได้บอกเรื่องการกระจาย ผมเข้าใจว่าตรงนี้เป็นช่องว่างการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันกับกลุ่มวิชาชีพ มันต้องแยกเรื่องการกระจายออกมาจากการวางแผนเรื่องดีมานด์ซัพพลาย" นพ.ฑิณกร กล่าว

อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ยังคำนึงถึงเรื่อง urbanization คือความเป็นสังคมเมืองกับชนบท ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 50:50 ภาระงานก็จะเปลี่ยนไป งานเกี่ยวกับโรคระบาดจะมีน้อยลง งานอนามัยแม่และเด็กจะดีขึ้น แต่จะกลายเป็นเรื่องโรคไม่ติดต่อ โรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เมื่อหน้างานเปลี่ยน บทบาทของวิชาชีพสาธารณสุข บทบาท รพ.สต. ก็ต้องเปลี่ยน

ดังนั้น นอกจากข้อเสนอให้ทบทวนจำนวนการผลิตแล้ว จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนสมรรถนะวิชาชีพให้สอดคล้องกับภาระงานในอนาคตด้วย ส่วนตัวเลขการผลิตที่เหมาะสมจะเป็นเท่าใดนั้น ต้องมีการพูดคุยกันในกลุ่ม stakeholder ทั้งกลุ่มวิชาชีพ ผู้ผลิตและกระทรวงสาธารณสุข โดยเร็วๆ นี้จะมีการนัดประชุมอีกครั้งเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม

"เราถือว่าโอเคว่าการเห็นต่างในผลการศึกษา มันทำให้เกิดการพูดคุยกัน เราคิดว่าการที่วิชาชีพสาธารณสุขผลิตเกินก็ไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นโอกาสในการเอาผลการศึกษามาเขย่าให้คุยกัน อย่างถ้าดู จป.อาจจะไม่พอในอนาคต ฝั่งผู้ผลิตอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นเรื่องอาชีวะอนามัยมากขึ้น คือเปลี่ยนสมรรถนะของบัณฑิตใหม่เลยเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือเราพบว่าผู้สูงอายุมากขึ้น คุณเปลี่ยนมาดูเรื่องโรคเรื้อรังมากขึ้นไหม เปลี่ยนมาเน้นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้นไหม เพราะปัจจุบันไม่มีวิชาชีพไหนดู สรุปคืออาจจะผลิตลดลงบ้าง ตัวเลขเท่าไหร่ค่อยว่ากันอีกที แต่สมรรถนะต้องเปลี่ยน เพราะมันมีสภาพความต้องการบางอย่างที่ไม่มีใครไปดูแล แต่ถ้าผลิตแบบนี้ สมรรถนะมันยังไม่ได้ ก็ต้องปรับ ถ้าปรับได้ก็จะช่วยดูแลปัญหาในภาพรวม" นพ.ฑิณกร กล่าว