อาจารย์แพทย์ มข. แจงข้อเสนอปฏิรูปแพทยสภาไม่ได้ไร้เหตุผล เหตุ คกก.ชุดเดิมนั่งบริหารผูกขาดยาวนาน การทำหน้าที่ออกแนวสหภาพแรงงานคอยปกป้องแพทย์ กระทบความเชื่อมั่นประชาชน ระบุควรจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง พร้อมชี้ข้อเสนอให้คนนอกร่วมนั่ง กก.แพทยสภา เป็นหนทางแก้ปัญหาความไม่เชื่อถือที่สังคมภายนอกมีต่อแพทยสภา 

นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอปฏิรูปแพทยสภาว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแพทยสภามีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะระดับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อแพทยสภาที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งแต่เดิมเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาในการรับบริการรักษาพยาบาลจากแพทย์ แพทยสภาจะเป็นองค์กรที่พึ่งของประชาชนในการเข้าร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม

แต่ปัจจุบันนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องถามว่าผู้ปวยจะเดินเข้าหาแพทยสภาหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหันไปพึ่งกระบวนการทางศาลแทน สาเหตุจากความไม่เชื่อมั่นต่อแพทยสภา และมองว่าเป็นองค์กรที่คอยทำหน้าที่เพื่อปกป้องวิชาชีพตนเอง รวมถึงการปกป้องแพทย์กันเอง ไม่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาให้ได้ รวมถึงไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่การรักษามาตรฐานวิชาชีพแพทย์ตามเจตนารมณ์

ทั้งนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องวิชาชีพตนเอง รวมถึงปกป้องผู้ร่วมวิชาชีพ รูปแบบนี้น่าจะเป็นสหภาพแรงงานมากกว่า ไม่ใช่องค์กรวิชาชีพ โดยในกรณีที่เกิดปัญหาในลักษณะสีเทาๆ ไม่ชัดเจนว่าแพทย์ผิดหรือถูก หากเป็นสหภาพแรงงานคงต้องยืนยันปกป้องแพทย์ว่าไม่ได้เป็นผู้ผิด แต่หากเป็นองค์กรวิชาชีพจะต้องเน้นการรักษามาตรฐานวิชาชีพแพทย์ และจะต้องมีการลงโทษหรืออย่างน้อยก็ต้องมีการตักเตือน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวมองว่า วันนี้แพทยสภาได้ทำหน้าที่สหภาพมากกว่าองค์กรวิชาชีพ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เห็นปรากฎการณ์ที่นายกแพทยสภาลงไปให้ความเห็นในชั้นศาลในกรณีการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งตามหลักการไม่ควรดำเนินการแบบนั้น เพราะในฐานะองค์กรวิชาชีพควรที่จะปลีกตัวออกมาและคงไว้ซึ่งความเป็นกลางมากกว่า   

“ตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 แพทยสภามีหน้าที่สำคัญข้อที่หนึ่งคือต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพ โดยในกรณีของการทำหน้าที่ปกป้องแพทย์นั้นย่อมทำได้ แต่ต้องเป็นการจัดตั้งอีกองค์กรหนึ่งเพื่อทำหน้าที่สหภาพแรงงานให้กับแพทย์ ต้องไม่ใช่บทบาทของแพทยสภา” นพ.อธิพงศ์ กล่าว

ส่วนข้อเสนอการปฏิรูปที่ให้จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการแพทยสภาที่ไม่ควรเกิน 2 วาระนั้น นพ.อธิพงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ควรทำอยู่แล้ว เพราะการไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนับเป็นความเสี่ยง แม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งนั้นจะเป็นคนดี ทำงานเก่ง แต่อาจทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจได้ แม้ว่าจะเป็นตำแหน่งที่มาโดยการเลือกตั้งก็ตาม เพราะจะทำให้มีการสร้างฐานเสียงที่สามารถทำให้กลับมารับตำแหน่งได้อีก ดังนั้นในองค์กรใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงตำแหน่งสำคัญจะมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน นอกจากนี้การเปลี่ยนคนใหม่เข้ามาทำงานก็อาจได้มุมมองการดำเนินงานใหม่เพื่อพัฒนาองค์กรเพิ่มเติม

“หากถามว่าผลที่เกิดขึ้นจากการบริหารแพทยสภาโดยกรรมการชุดเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เท่าที่เห็นคือความเชื่อมั่นของประชาชนรวมถึงท่าทีที่มีต่อแพทยสภา ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีท่าทีดีขึ้น แต่มีแนวโน้มที่จะแย่งลงกว่าเดิม โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่แย่ลงเรื่องนี้คงไม่มีใครเถียงได้ ดังนั้นน่าจะลองดูหากมีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารแทนและเปลี่ยนทิศทางนโยบายเพื่อดูว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่” 

นพ.อธิพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา จากที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน ถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ของแพทยสภาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาไปแล้ว จึงควรมีการปรับเปลี่ยน สลัดภาพการทำงานเดิมๆ ของแพทยสภาออก

สำหรับที่เสนอให้คณะกรรมการแพทยสภา มีสัดส่วนจากคนภายนอกร่วมด้วยนั้น นพ.อธิพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้หลักการคือ เมื่อองค์กรไหนที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ พอมาถึงจุดหนึ่งสังคมภายนอกทก็จะเรียกร้องเพื่อเข้ามาร่วมดูแลด้วย ซึ่งข้อเสนอที่ให้มีคนนอกร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการแพทยสภานั้นเป็นการสะท้อนแนวคิดนี้ เพราะเมื่อประชาชนมองว่าแพทยสภาไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ จึงมีข้อเสนอให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นที่มีต่อแพทยสภาเช่นกัน

“มองว่าวันนี้แพทยสภาต้องปรับบทบาทตนเอง โดยเปลี่ยนให้เป็นองค์กรที่มุ่งรักษามาตรฐานวิชาชีพสูงสุด ไม่ใช่มุ่งปกป้องแพทย์เท่านั้น ซึ่งกรณีไหนที่แพทย์ทำไม่ถูกต้องควรมีการลงโทษ หรือกรณีไหนที่เป็นสีเทาๆ ความผิดไม่ชัดเจน ควรที่จะมีการตักเตือน แต่ไม่ใช่ปกป้องและบอกว่าไม่ใช่ความผิดของแพทย์ไว้ก่อนแบบนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่พอใจ และในที่สุดสถานการณ์จะแย่งลงไปอีก”

นพ.อธิพงศ์ กล่าวว่า การทำหน้าที่แพทยสภาที่คอยปกป้องแพทย์นั้น ตนเองคงไม่สามารถตอบเกี่ยวกับความเห็นและความพึงพอใจที่มีต่อแพทยสภาของแพทย์คนอื่นๆ ได้ แต่ในมุมมองของตนเองเห็นว่าแพทยสภาควรทำหน้าที่รักษามาตรฐานวิชาชีพ แทนที่จะทำหน้าที่คอยปกป้อง

อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า แพทยสภาชุดนี้ได้ทำหน้าที่โดยอุทิศการทำงานให้กับวงการแพทย์มาโดยตลอด และรู้สึกขอบคุณคณะกรรมการแพทยสภาชุดนี้อย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีข้อเสนและการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือแพทย์หลายอย่าง อาทิ การชดเชยความเสียหายที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในแง่ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อแพทยสภา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงเพื่อทำให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นต่อแพทยสภา ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาความขัดแย้งและการฟ้องร้องได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่ารายชื่อปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ดันแก้ กม. ‘เพิ่มคนนอก-กก.เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ’

อดีตอธิการ มข.หนุนปฏิรูปแพทยสภาเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่แค่สหภาพแรงงานหมอ

แพทยสภาไม่จำกัดวาระ กก. เพื่อทำงานต่อเนื่อง ทั้งไม่มีอำนาจล้นแบบ ปธน.

‘หมอธีระ’ ค้านข้อเสนอคนนอกนั่งกรรมการแพทยสภา ชี้เป็นข้อเสนอสุดโต่ง

หมอล่ารายชื่อ ค้านข้อเสนอแก้กฎหมาย เพิ่มคนนอกเป็น กก.แพทยสภา

ยืนยันแพทยสภาเกือบทั่วทั้งโลกไม่มีคนนอกเป็นกรรมการ