ไทยหนุนประเทศกำลังพัฒนา สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างความสำเร็จของไทยที่นานาชาติยกย่องที่สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินงานได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ และทุกประเทศสามารถทำได้ หากประเทศมีเจตจำนงทางการเมืองและผู้นำประเทศมีนโยบายที่ชัดเจน
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงปาฐกถาเรื่อง “ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา: ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพของประเทศทางตอนใต้” (South- South Cooperation : Importance of peer learning on UHC to support countries) ในที่ประชุม Acting with ambition: accelerating progress towards Universal Health Coverage by 2030 ณ มูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก เครือข่าย International Health Partnership (IHP+) ประเทศอินโดนีเซีย เคนยา ชิลี และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ จัดขึ้น
มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างและพัฒนาหลักประกันสุขภาพของทุกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี ค.ศ. 2030 ตามเป้าหมายที่ 3 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) โดยมีผู้นำด้านสุขภาพระดับโลก อาทิ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐแอฟริกาใต้และอาร์เจนตินา, Dr. Gro Harlem Brundtland อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก, ผู้นำระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ และนักวิชาการเข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การพัฒนาการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เริ่มดำเนินการในขณะที่ประเทศมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ต่อหัวประชากร เพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันมีความครอบคลุมประชาชนไทยเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่นานาประเทศยกย่อง และสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินงานได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ และทุกประเทศสามารถทำได้ หากประเทศมีเจตจำนงทางการเมืองและผู้นำประเทศมีนโยบายที่ชัดเจน
โดยได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation)ในลักษณะความเป็นเครือข่าย 3 เครือข่าย คือ
1.การตั้งเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังโรคลุ่มแม่น้ำโขง (Mekhong Basin Disease Surveillance)
2.การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนากำลังคน (Asia Pacific Action Alliance on human resources for health)
และ 3.การตั้งเครือข่ายการสร้างศักยภาพหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (CAP UHC) และ ASEAN Plus Three UHC network
ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้มีความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (equal partnership) ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน
“ความร่วมมือในรูปแบบ South-South Collaboration จะช่วยส่งเสริมการสร้างและพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีความเข้มแข็ง และความร่วมมือในรูปแบบ North-South collaboration ควรอยู่บนพื้นฐานที่ได้ประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน และไทยยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสนับสนุนนานาประเทศให้บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ. 2030” นพ.ปิยะสกล กล่าว
- 7 views