แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโลหิตวิทยาเผยพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มปีละ 4% แต่คนไข้บัตรทองยังเข้าไม่ถึงแอนติบอดีรักษา ทั้งที่ช่วยเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดได้อีก 15% จี้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติโดยเร่งด่วน
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ภายใต้สมาคมโลหิตวิทยา เปิดเผยว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยที่สุด และสถานการณ์ในปัจจุบันมีอัตราการพบมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งถือว่าเยอะ เพราะโดยปกติแล้วตัวเลขควรจะทรงตัวหรือน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือโรคนี้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหากเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะมีโอกาสการหายขาดถึง 80% ดังนั้น ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่าเพิ่งท้อใจคิดว่าเป็นมะเร็งแล้วไม่รักษาแต่ให้รีบมาพบแพทย์ทันที
ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวอีกว่า โรคมะเร็งชนิดนี้ กว่า 98% ไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค แต่ให้ลองสังเกตอาการ หากมีต่อมน้ำเหลืองเป็นก้อนโตบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ แล้วไม่ยุบภายใน 2 สัปดาห์ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจแต่เนิ่นๆ
"การมีต่อมน้ำเหลืองโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะมาจากการติดเชื้อก็ได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาหาแพทย์แล้วพบว่าไม่ใช่มะเร็งแต่เกิดจากการติดเชื้อ แต่ในกรณีที่เป็นมะเร็งก็อย่าเพิ่งไปกลัวมัน ถ้ารีบรักษาก็มีโอกาสหายขาด แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนลุกลามถึงระยะที่ 4 โอกาสรักษาให้หายขาดก็ลดลงเหลือ 30% ดังนั้นถ้ามีอาการต่อมน้ำเหลืองโตก็ควรมาพบแพทย์ก่อน" ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน จะใช้การรักษาแบบเคมีบำบัด นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่เกิดจากบีเซลซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่พบมากที่สุด ยังมีแอนติบอดีที่ทำลายเซลมะเร็งโดยตรง เมื่อบวกเข้ากับเคมีบำบัด ก็ทำให้คนไข้มีโอกาสหายขาดได้มากขึ้นไปอีก 15% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้รับแอนติบอดี
อย่างไรก็ตาม แม้แอนติบอดีดังกล่าวจะมีการคิดค้นและใช้รักษามานานแล้วกว่า 10 ปีและพิสูจน์แล้วว่าทำให้คนไข้หายขาดได้สูงขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่ถูกบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ยกเว้นแต่จะจ่ายเงินเอง ทำให้อัตราการรักษาจนหายขาดแตกต่างกันมากกับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งเบิกค่ายาชนิดนี้ได้ และมีอัตราการหายขาดที่สูงกว่า
"ข้อเสนอผมคือเพิ่มเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยเร็ว เพราะเงื่อนไขของสิทธิบัตรทองคือยาต้องบรรจุเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน คนไข้ถึงจะได้ใช้ แต่ยานี้ยังไม่ถูกบรรจุ ทั้งๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีหมดแล้ว หรือ WHO ก็แนะนำว่ายานี้เป็นยาจำเป็น ควรใช้ในทุกประเทศ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเมืองไทยไม่มี แม้ว่าแอนติบอดีชนิดนี้จะมีราคาแพง แต่คนไข้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็มีจำนวนไม่มากนัก แล้วหลายๆ อย่างมันแพงกว่านี้อีกแต่รักษาไปแล้วก็ยังตาย แต่อันนี้มันรักษาให้หายขาดได้ มันก็ต้องมองดีๆ บางอย่างยาแพงแล้วต้องกินไปตลอดชีวิต แต่ยานี้ใช้แค่ 6 ครั้ง และเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดเพิ่มขึ้นได้อีก 15% มันก็คุ้มค่าอยู่แล้ว" ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
- 133 views