“หมอธานินทร์” แพทย์โลหิตวิทยา คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ เสนอ ยาแอนติบอดี รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพิ่มในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองได้ใช้ยานี้ แจงได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.นานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ชี้ได้ผลดีในการรักษา มีผลข้างเคียงน้อย เพิ่มอัตรารอดชีวิตผู้ป่วยได้ 10-15 %
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย
ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการผลักดันให้มีการใช้ยารักษามะเร็งชนิดใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย 3 กองทุนหลัก คือ สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และ สิทธิหลักประกันสุขภาพว่า ปัจจุบันแนวทางการใช้ยารักษาโรคมะเร็งนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีข้อกำหนดว่าจะต้องใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ยกเว้นยาในกลุ่มบัญชี จ (2) บางรายการ ที่ สปสช.กำหนดสิทธิประโยชน์ให้เบิกได้ แต่ก็ยังมียาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จะไม่สามารถเบิกค่ายาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจึงต้องจ่ายเงินเอง เช่น ยาแอนติบอดี ที่ออกฤทธิ์ในระดับโมเลกุล ทำลายเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ ซึ่งเป็นยาที่ช่วยชีวิตคนไข้มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ให้ผลดีในการรักษา มีผลข้างเคียงน้อย เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยขึ้นเป็น 10-15% แม้จะขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มานานกว่า 15 ปี และเป็นยาที่แพทย์ได้ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งสำหรับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ตั้งแต่ยาได้รับการขึ้นทะเบียนยาจาก อย. แต่เมื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยบัตรทองก็ต้องดูความพร้อมของผู้ป่วยว่าสามารถจ่ายค่ายาประมาณ 60,000 บาท ต่อครั้ง และต้องรักษาประมาณ 6 ครั้ง หรือ 360,000 บาท ได้หรือไม่
ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า แพทย์ด้านโลหิตวิทยาได้พยายามผลักดันให้ยาดังกล่าวเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมานานกว่า 15 ปี แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถนำเข้าไปไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพราะยังไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องความคุ้มค่า แต่การพิจารณาให้ยาใดเข้าบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น จะเน้น 2 เรื่องหลัก คือ การรักษาเป็นหลักและความคุ้มทุน ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ จะทำการพิจารณาข้อมูล เหตุผล และข้อเสนอของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อนำมาพิจารณาในภาพรวม
ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า หากทุกฝ่ายเห็นว่ายาแอนติบอดี ทำลายเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ มีประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมากพอ และคุ้มค่ากับการลงทุนนำมาใช้ในประเทศไทย แต่หากยาต้นแบบมีราคาสูง และไม่สามารถต่อรองเพื่อให้บริษัทยาลดราคาให้ได้ รัฐอาจจะพิจารณาทางเลือกอื่นเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ยา เช่น การนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียซึ่งมีขายมานานหลายปีแล้วมาใช้ในประเทศไทย
ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ในอนาคตยารักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะมีมากขึ้น การให้ยาเคมีบำบัดจะเริ่มหมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ภาคส่วนต่างๆ ด้านสาธารณสุขจะต้องช่วยกันคิดว่าจะยอมรับให้ยาใหม่ๆ ที่มีราคาแพง ได้มีโอกาสเข้ามาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ เพราะงบประมาณก็เหมือนเค้กมีก้อนเดียว ดังนั้นจึงต้องจัดสรรลงทุนให้เกิดประโยชน์ที่สุด.
- 150 views