สพฉ.ร่วมกับมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ(AED) ให้กับกรมบัญชีกลาง พร้อมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ใช้งานเครื่องได้ เชื่อจะหยุดวิกฤตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกับประชาชนที่มาใช้บริการในกรมบัญชีกลางได้
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ร่วมกับมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ(AED) มอบให้กับกรมบัญชีกลางได้ติดตั้งไว้ใช้งานในพื้นที่อาคารพร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าฝึกอบรมการใช้งานเครื่อง AED ให้กับเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางด้วย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า สืบเนื่องจากกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการรับจ่ายเงินภาครัฐ ให้บริการทางด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงินการคลังจึงทำให้มีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการต่างๆ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับบำนาญ และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ร่วมกับมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินำเครื่อง AED มาติดตั้งให้กรมบัญชีกลางจำนวน 1 เครื่อง บริเวณอาคารกรมบัญชีกลาง ชั้น 3 พร้อมทั้งฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางได้ใช้งานเครื่อง AED เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่มาติดต่อบริการจะได้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วย
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอัตราของประชาชนที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีจำนวนมากพอๆ กับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทั้งนี้จากสถิติในแต่ละปีนั้นประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คนเท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และหากผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และถูกวิธีตามหลักห่วงโซ่การรอดชีวิต คือการช่วยเหลือโดยการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (CPR) ประกอบกับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น ก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้
“เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่หลายประเทศใช้แล้วสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลได้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเราจะใช้การปฐมพยาบาลด้วยการCPR เพียงอย่างเดียว จึงทำให้ตัวเลขการรอดชีวิตของผู้ป่วยในประเทศไทยระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาลมีเพียง 3 % เท่านั้น ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเพียง 5 % ที่รอดชีวิตเช่นกัน” นพ.อนุชา กล่าว
อย่างไรก็ตามในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้มีงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่าเมื่อนำเครื่อง AED มาใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินสลับกับการทำ CPR ระหว่างรอนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลนั้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากถึง 50 % โดยในอนาคตนอกจากการติดตั้งที่กรมบัญชีกลางแล้วเรายังจะกระจายไปติดตั้งในสถานที่อื่นๆ ที่จำเป็นอีกต่อไปด้วย
- 25 views